posttoday

ส่งออกไทย64ท้ายท้าทายหลังสหรัฐตัดสิทธิ GSP

02 พฤศจิกายน 2563

สหรัฐฯ เดินเกมตัดสิทธิ GSP ไทย 2 ครั้งในปี 63 ปัจจัยท้าทายการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ปี 64

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลอดสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เปราะบางเรื่อยมา จากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ จนกระทั่งโค้งสุดท้ายก่อนหมดวาระก็ยังตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยถึง 2 ครั้งในปี 2563

โดยการตัดสิทธิครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน รวมมีมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์ฯ ไม่กระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2563 เนื่องจากได้แรงหนุนจากการส่งกลับสินค้าเพื่อการซ้อมรบ บวกกับอานิสงส์จากกิจกรรม WFH และสินค้าเพื่อการป้องกันโควิด-19 ทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2563 น่าจะเติบโตได้ที่ร้อยละ 6.4 มีมูลค่าส่งออกราว 33,300 ล้านดอลลาร์ฯ

สำหรับการตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยครั้งที่ 2 จำนวน 231 รายการ รวมเป็นมูลค่าการส่งออก 601 ล้านดอลลาร์ฯ เริ่มมีผลทางภาษีในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ไม่น่าจะหลุดจากกรอบที่เคยประเมินไว้ว่าถ้าหากนายโจ ไบเดนได้เป็นผู้นำคนใหม่ การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2564 จะยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 10-12 ด้วยมูลค่าส่งออกราว 36,700-37,300 ล้านดอลลาร์ฯ

อย่างไรก็ตาม หากนายโดนัลด์ ทรัมป์บริหารประเทศต่อในสมัยที่ 2 การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ น่าจะยังเติบโตเป็นบวกได้ใกล้เคียงร้อยละ 5.0 ด้วยมูลค่าส่งออกราว 35,000 ล้านดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ดี การตัดสิทธิ GSP ก็มีผลให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐฯ ต้องแบกรับภาระต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าไทยที่ต้องแข่งขันรุนแรงกับคู่แข่งในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ผู้ประกอบการไทยคงต้องรับภาระไว้ค่อนข้างมากเพื่อให้ราคาแข่งขันได้ อาทิ ที่นอนทำด้วยาง/พลาสติก เพลาขับสำหรับรถยนต์นั่ง ส่วนประกอบเฟอร์นิเจอร์ พลาสติกที่ทำจากเอทิลีน/โพรพิลีน และท่อและวาล์ว