posttoday

ฉีดวัคซีนป้องภาคการท่องเที่ยว จัดซอฟท์โลน 1.25 แสนล้าน

04 กุมภาพันธ์ 2563

ครม. อัดมาตรการอุ้มภาคท่องเที่ยว จัดซอฟท์โลน 1.25 แสนล้านบาท พร้อมเฉือนเนื้อเว้นภาษี 5,287 ล้านบาท

ครม. อัดมาตรการอุ้มภาคท่องเที่ยว จัดซอฟท์โลน 1.25 แสนล้านบาท พร้อมเฉือนเนื้อเว้นภาษี 5,287 ล้านบาท

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 ได้เห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 รวมถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกในประเด็นอื่นๆ

โดยมาตรการประกอบด้วยมาตรการด้านการเงินที่ธนาคารของรัฐให้เงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1.25 แสนล้านบาท และมาตรการภาษีทรวมรัฐสูญเสียรายได้ภาษี 5,287 ล้านบาท แต่เชื่อว่าจะช่วยเหลือทั้งภาคธุรกิจและแรงงานเกี่ยวข้องให้ผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการด้านการเงิน สถาบันการเงินของรัฐจะมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องการสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและปรับปรุงสถานประกอบการ รวมถึงมาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม

มาตรการสินเชื่อวงเงินรวม 1.25 แสนล้าน ประกอบด้วยโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีประชารัฐสร้างไทย ของธนาคารออมสิน วงเงินคงเหลือ 40,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย4% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี และมีการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนเอสเอ็มอีเป็นระยะเวลา 4 ปี สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ของเอสเอ็มอีแบงก์วงเงินคงเหลือ 1.5 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปี ในช่วง 3 ปีแรก วงเงินต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี โดยระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

สินเชื่อ กรุงไทยเอสเอ็มอีของธนาคารกรุงไทยวงเงินคงเหลือ 55,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย4% ต่อปี วงเงินต่อรายสูงสุด 3 เท่าของหลักประกัน ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี จ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนเอสเอ็มอี 4 ปี และโครงการทรานซ์ฟอร์เมชั่นโลน เสริมแกร่ง (ซอฟท์โลนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) ของธนาคารออมสิน วงเงินคงเหลือ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการอัตรา 0.1% ต่อปี และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการคิดดอกเบี้ยกับ SMEs ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินต่อรายสูงสุด 50 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี (ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี)

นางนฤมล กล่าวว่า สำหรับมาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม จะดำเนินการโดยธนาคารของรัฐทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย 1.ธนาคารออมสิน มีมาตรการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ 2 เท่าของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญา สูงสุดไม่เกิน 5 ปี สำหรับลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยว 2.เอสเอ็มอีแบงก์ พักชำระหนี้เงินต้นสำหรับเงินกู้ยืมระยะยาวที่มีวงเงินคงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยต้องมีประวัติการผ่อนชำระหนี้ดีไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนวันเข้าร่วมโครงการและต้องไม่เป็นNPL สำหรับเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

3.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีมาตรการผัดผ่อนการชำระหนี้ได้ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน ต่อเนื่องไม่เกิน 5 ครั้ง หรือสามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ไม่เกิน 20 ปี สำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร หรือกองทุนหมู่บ้านที่ประสบปัญหาในการประกอบธุรกิจ มีสภาพคล่องไม่เพียงพอ หรือมีผลประกอบการขาดทุน 4.ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) มีมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และงวดผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี สำหรับลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เช่น ไกด์นำเที่ยว พนักงานโรงแรม ผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายสินค้าในแหล่งท่องเที่ยว และ5. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) มีมาตรการพักการชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ 12 เดือน สำหรับลูกค้า SMEs เดิมของ บสย. สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ธุรกิจบริการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และโรงแรมที่พัก

นางนฤมล กล่าวว่า ในมาตรการด้านภาษีมี 4 มาตรการรวมรัฐสูญเสียรายได้ภาษี 5,287 ล้านบาท 1.ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 (การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีฯ) จากเดิมที่ต้องเสียภาษีภายในเดือนมี.ค. ให้ขยายไปเสียภาษีภายใน มิ.ย. 2563 ซึ่งส่วนนี้รัฐไม่สูญเสียรายได้ภาษี แต่จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลื่อนออกไป

2.มาตรการภาษีเพื่อสนับสุนนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ผู้มีสิทธิคือบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการสัมมนาระหว่าง 1 ม.ค.- 31 ธ.ค.2563คาดว่าจะมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีประมาณ 1,000 ราย ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 87 ล้านบาท

3.มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้การลงทุนภาคเอกชนในกิจการโรงแรมในปี 2563 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาภายหลังสถานการณ์ดีขึ้น โดยบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม นำรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-ธ.ค. 2563 เพื่อการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ไปหักค่าใช้จ่าย 1.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยโครงการนี้คาดว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมลงทุนปรับปรุงกิจการประมาณ 1,000 ราย ทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 2,900 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 20 ปี

4.มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ระยะเวลาถึง 30 ก.ย.2563 ประมาณ 8 เดือน โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร โดยคาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ภาษี 2,300 ล้านบาท