posttoday

ราคาน้ำมันพุ่งแรงเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย

07 มกราคม 2563

ทิสโก้ ชี้เหตุการณ์ตึงเครียดสหรัฐฯ-อิหร่าน ดันราคาน้ำมันแพง กรณีเลวร้ายมีโอกาสทะลุ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล

ทิสโก้ ชี้เหตุการณ์ตึงเครียดสหรัฐฯ-อิหร่าน ดันราคาน้ำมันแพง กรณีเลวร้ายมีโอกาสทะลุ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวถึงสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านว่า มีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะลุกลามไปเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซีย ยังคงนิ่งเฉยและยังไม่แสดงเจตนารมย์อย่างเป็นทางการต่อเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด นอกจากนี้ ทั้งจีนและรัสเซียยังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่เติบโตอย่างอ่อนแอ จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่ทั้งสองประเทศจะออกมามีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม มีโอกาสสูงที่อิหร่านจะออกมาตอบโต้สหรัฐฯ เพื่อปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก แต่คงไม่รุนแรงจนเป็นเหตุให้สหรัฐฯ ต้องกลับเข้ามาโจมตีเป็นครั้งที่สอง

โดยในกรณีที่มีการตอบโต้จากอิหร่านนั้นจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป้าหมายของการโจมตีสหรัฐฯ จากอิหร่านคาดว่าน่าจะเป็นฐานทัพสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในอิรัก ซึ่งอิรักถือเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันอันดับที่ 2 ในกลุ่มโอเปค โดยผลิตน้ำมันประมาณ 4.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายที่กระทบต่อแหล่งผลิตน้ำมันในอิรักก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันให้ปรับตัวพุ่งขึ้นได้อย่างแน่นอน

กรณีต่อมายังมีโอกาสที่อิหร่านอาจใช้เรือรบไปปิดเส้นทางการขนส่งน้ำมันที่ช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นช่องแคบที่ใช้ขนส่งน้ำมันมากถึง 20% ของปริมาณน้ำมันที่ใช้ในแต่ละวันของโลก หากเกิดกรณีนี้ขึ้นจริงก็อาจเป็นชนวนนำไปสู่การเกิดสงครามขึ้นได้

กรณีสุดท้ายคือ อาจเกิดการโจมตีซาอุดิอาระเบียอีกครั้งและทำให้แหล่งผลิตน้ำมันได้รับผลกระทบหลังจากครั้งก่อนหน้าเคยเข้าไปโจมตีหนึ่งครั้งจนทำให้ปริมาณน้ำมันหายออกไปจากระบบประมาณ 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน

“ประเมินค่อนข้างยากว่าทั้งสามกรณีจะเกิดขึ้นเมื่อไร จะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ตราบใดที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ก็น่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันคงตัวอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แต่หากเกิดเหตุการณ์สู้รบในระดับรุนแรงอาจเห็นราคาทะลุไป 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในส่วนของการอุปโภคบริโภคซึ่งปัจจุบันเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กรณีที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นรุนแรงอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น”นายคมศรกล่าว