posttoday

เจ้าพระยาปลูกข้าวเกินส่อแล้ง

20 กุมภาพันธ์ 2562

กรมชลฯ เตือนเกษตร งดนาปรังรอบ 3 หลังรอบ 2 ปลูกทะลุ 110% จ่อขยายจัดสรรน้ำ

กรมชลฯ เตือนเกษตร งดนาปรังรอบ 3 หลังรอบ 2 ปลูกทะลุ 110% จ่อขยายจัดสรรน้ำ

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวจากการทำนาครั้งที่ 2 ไม่เพาะปลูกต่อเนื่อง หรือทำนาปรังรอบที่ 3 เพื่อให้การบริหารน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อเก็บน้ำที่จัดสรรไว้ใช้ตลอดแผนบริหารน้ำใน ฤดูแล้ง เดือน พ.ย. 2561-30 เม.ย. 2562 และเตรียมไว้สำหรับในช่วงฝนทิ้งช่วงประมาณ 2 เดือนของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งในส่วนพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.86 ล้านไร่ คิดเป็น 110% ของแผนที่วางไว้ 5.30 ล้านไร่ ดังนั้น กรมชลฯ จึงต้องขอความร่วมมือเกษตรกรในการงดทำนาปรังรอบที่ 3

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีปริมาณ 15,152 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 61% ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 8,456 ล้าน ลบ.ม. หรือ 47% โดยปริมาณน้ำในประเทศ ณ วันที่ 18 ก.พ. 2562 อยู่ที่ 52,212 ล้าน ลบ.ม. หรือ 69% ของปริมาณความจุของอ่างทั่วประเทศ มีน้ำใช้การได้ 28,283 ล้าน ลบ.ม. หรือ 54%

นอกจากนี้ ในส่วนของผลการจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,442 ล้าน ลบ.ม. หรือ 68% ของแผนที่ตั้งไว้ 8,000 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือปริมาณน้ำต้นทุนที่สามารถจัดสรรได้ไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2562 ประมาณ 2,558 ล้าน ลบ.ม.

"กรมชลฯ จะดำเนินการควบคุมการใช้น้ำและรักษาระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักและระบบชลประทานตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงฤดูฝนเดือน พ.ค. ประมาณ 5,500 ล้าน ลบ.ม." นายทวีศักดิ์ กล่าว

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ร่างบันทึกความเข้าใจด้านน้ำระหว่างไทยกับฮังการี เพื่อพัฒนาระบบน้ำข้ามพรมแดน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง การจัดการตะกอนในลำน้ำ การจัดการน้ำเสีย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ 20 ปี