รอยเส้นตรงบนไดโอนี
ดาวเสาร์มีดวงจันทร์บริวารที่ค้นพบแล้วจำนวนมาก
โดย วรเชษฐ์ บุญปลอด
ดาวเสาร์มีดวงจันทร์บริวารที่ค้นพบแล้วจำนวนมาก นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาภาพถ่ายจากยานแคสซีนีซึ่งถูกส่งออกไปจากโลกในปี 2540 และเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเสาร์ในช่วงปี 2547-2560 ค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ว่าพื้นผิวของดาวบริวาร ที่มีชื่อว่า ไดโอนี มีเส้นตรงหลายเส้นปรากฏอยู่ กระบวนการที่ทำให้เกิดเส้นตรงนี้กำลังเป็นปริศนาที่นักดาราศาสตร์พยายามหาคำอธิบาย
ในบรรดาดาวบริวารมากกว่า 60 ดวง ไดโอนีเป็นดาวบริวารของดาวเสาร์ที่ถูกค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1684 ไดโอนีมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1,123 กิโลเมตร นับว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ในระบบสุริยะ และใหญ่เป็นอันดับที่ 4 เมื่อเทียบกับบรรดาดาวบริวารของดาวเสาร์ด้วยกัน เป็นรองแค่ ไททัน เรีย และไอยาพิตัส
การสำรวจที่ผ่านมานักดาราศาสตร์คาดว่ามวลราว 2 ใน 3 ของไดโอนีเป็นน้ำแข็ง พื้นผิวด้านนอกที่เห็นนั้นประกอบด้วยน้ำแข็งหนาราว 100 กิโลเมตร ใต้เปลือกน้ำแข็งนี้คาดว่าเป็นมหาสมุทรของน้ำในสถานะของเหลวห่อหุ้มแก่นที่เป็นหิน
ในระบบสุริยะมีดาวบริวารของดาวเคราะห์อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ละดวงมีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ไล่ไปตั้งแต่ดาวบริวารขนาดเล็กที่มีรูปร่างไม่แน่นอนคล้ายดาวเคราะห์น้อยไปจนถึงดาวบริวารที่มหาสมุทรอยู่ใต้เปลือก ดาวบริวารที่มีบรรยากาศอันหนาแน่นห่อหุ้ม และมีทะเลของมีเทนอยู่บนพื้นผิว ยิ่งมีการสำรวจมากเท่าใดก็ยิ่งพบธรรมชาติอันมหัศจรรย์ของโลกต่างดาวภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
นักดาราศาสตร์ประกาศการค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้ว่าภาพถ่ายจากยานแคสซีนีได้เผยให้เห็นว่าพื้นผิวของดาวบริวารไดโอนีซึ่งโคจรรอบดาวเสาร์มีร่องรอยของบางสิ่งบางอย่างลากเป็นเส้นตรงราวกับมีใครมาวาดไว้ เส้นตรงที่พบบนไดโอนีมีลักษณะเป็นเส้นสว่างตัดกับพื้นผิวที่คล้ำกว่า ไม่ได้มีเพียงเส้นเดียวแต่มีหลายเส้น แต่ละเส้นยาวหลายสิบถึงหลายร้อยกิโลเมตร และหนาไม่เกิน 5 กิโลเมตร ทั้งหมดปรากฏขนานกับเส้นศูนย์สูตรของไดโอนี ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับระนาบการโคจรของไดโอนีรอบดาวเสาร์
งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters อธิบายว่าได้พบรอยเส้นตรงปรากฏทั้งบนดาวบริวารไดโอนีและดาวบริวารเรีย แต่การศึกษารอยนี้บนเรียทำได้ไม่สมบูรณ์เนื่องจากมีข้อมูลไม่ครบทั่วทั้งดวง อย่างไรก็ตามทีมวิจัยพบว่ารอยเส้นตรงที่ปรากฏบนไดโอนีอยู่ในแนวขนานกับเส้นศูนย์สูตรของดาว และมีขอบเขตจำกัดอยู่ที่ระหว่างละติจูด 45 องศาเหนือ ถึง 45 องศาใต้ รอยเส้นตรงนี้ไม่พบที่อื่นในระบบสุริยะ หากนำไม้บรรทัดมาทาบลงบนภาพถ่ายจะพบว่ารอยเส้นตรงนี้มีความตรงเกือบจะสมบูรณ์อย่างไม่น่าเชื่อ แบบที่หลายคนคงไม่คิดว่าจะพบได้ในธรรมชาติ สร้างความประหลาดใจและท้าทายความคิดเพื่อหาคำอธิบายไปพร้อมกัน
กลไกทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดกรณีคล้ายกัน อย่างการแปรสัณฐานของเปลือกดาว การเคลื่อนของก้อนหินบนดาว แนวของหลุมอุกกาบาตหลายหลุมเรียงกัน หรือการชนของดาวหาง ไม่เพียงพอที่จะใช้อธิบายรอยเส้นตรงซึ่งยาวหลายร้อยกิโลเมตรบนไดโอนีได้ คณะวิจัยสันนิษฐานว่ามีกระบวนการบางอย่างทำให้เกิดรอยนี้ คาดว่ามาจากปัจจัยภายนอก เช่น อนุภาคที่มาจากวงแหวนของดาวเสาร์ อนุภาคที่มาจากดาวบริวารอีกสองดวงซึ่งอยู่ร่วมวงโคจรเดียวกับไดโอนี หรือซากที่เกิดจากการผ่านใกล้ของดาวหาง ด้วยธรรมชาติของไดโอนีที่ใต้เปลือกเป็นมหาสมุทร หากข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง นักดาราศาสตร์ยังได้คาดหมายต่อไปว่ามีความเป็นไปได้ที่สสารซึ่งมาจากแหล่งอื่นอาจก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดปฏิกิริยาทางเคมีอันนำไปสู่การอุบัติขึ้นของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรของไดโอนี
นักดาราศาสตร์ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่ารอยเส้นตรงบนไดโอนีเกิดจากอะไร พวกเขายังคงต้องศึกษาภาพถ่ายในคลังภาพ และหากมีผลการสำรวจเพิ่มเติมในอนาคตก็น่าจะทำให้แน่ใจได้มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ายังคงต้องรอต่อไปอีกนาน เนื่องจากยานแคสซีนีได้สิ้นสุดภารกิจด้วยการพุ่งชนดาวเสาร์ไปตั้งแต่ปี 2560
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (4-11 พ.ย.)
ดาวพฤหัสบดีเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนสังเกตได้ยาก สัปดาห์นี้จึงเหลือดาวพุธ ดาวเสาร์ และดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์สว่าง 3 ดวง ที่เห็นได้บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ดาวพุธอยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกมากที่สุด สังเกตได้ขณะท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท และตกลับขอบฟ้าไปก่อนเป็นดวงแรก วันที่ 6 พ.ย. 2561 ดาวพุธจะทำมุมห่างดวงอาทิตย์ที่สุด หลังจากนั้นเคลื่อนกลับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ แต่เรายังพอจะสังเกตดาวพุธได้ตลอดทั้งสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าหากไม่มีเมฆหมอกบดบังเหนือขอบฟ้า
ถัดจากดาวพุธ เราจะเห็นดาวเสาร์อยู่สูงบนท้องฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ในกลุ่มดาวคนยิงธนู สัปดาห์นี้ดาวเสาร์ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 3 ทุ่ม ดาวอังคารอยู่ห่างไปทางซ้ายมือด้านบนของดาวเสาร์ ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล เข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำในช่วงสุดสัปดาห์ สังเกตดาวอังคารได้จนใกล้ตกลับขอบฟ้าราวเที่ยงคืนครึ่ง
หลังจากที่ดาวศุกร์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา สัปดาห์นี้เริ่มเห็นดาวศุกร์กลับมาปรากฏบนท้องฟ้าเวลากลางคืนอีกครั้ง โดยอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด คาดว่ามีโอกาสเห็นได้ตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้ในทิศทางของกลุ่มดาวหญิงสาว ดาวศุกร์จะเคลื่อนเข้าใกล้ดาวรวงข้าวหรือดาวสไปกาซึ่งเป็นดาวสว่างในกลุ่มดาวหญิงสาวมากขึ้นทุกวัน ใกล้กันที่สุดในกลางเดือน พ.ย. หากดูด้วยกล้องโทรทรรศน์สามารถเห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวและมีขนาดใหญ่
ต้นสัปดาห์เป็นปลายข้างแรม มองเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด วันที่ 6 พ.ย.จะเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่ใกล้ดาวศุกร์โดยอยู่ห่างทางซ้ายมือของดาวศุกร์ที่ระยะ 10 องศา ขณะเดียวกันดาวรวงข้าวก็อยู่ห่างดวงจันทร์ที่ระยะห่าง 7 องศา
หลังจันทร์ดับในวันที่ 7 พ.ย.จะเข้าสู่ข้างขึ้น ดวงจันทร์ย้ายไปอยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ วันที่ 9 พ.ย. จันทร์เสี้ยวบางๆ อยู่ทางขวามือของดาวพุธที่ระยะ 6 องศา ขณะเดียวกันดาวพุธอยู่ใกล้ดาวแอนทาเรสหรือดาวปาริชาตในกลุ่มดาวแมงป่องที่ระยะ 1.8 องศา ถัดไปอีก 2 วัน ดวงจันทร์จะขยับไปอยู่ใกล้ดาวเสาร์ที่ระยะ 3 องศา ในค่ำวันที่ 11 พ.ย.