posttoday

บีทีเอสเคาะค่าโดยสารสายสีเขียวลำลูกกา-สมุทรปราการ65บาท

10 พฤษภาคม 2561

บีทีเอสเคาะค่าโดยสารสายสีเขียวตลอดสายช่วงลำลูกกา-สมุทรปราการ 65 บาท เตรียมรับมอบรถใหม่ 12 ขบวนแก้แออัด พร้อมชงบิ๊กตู่ปลดล็อคกฎหมายเวนคืนที่ก่อสร้างอาคารจอดแล้วจร

บีทีเอสเคาะค่าโดยสารสายสีเขียวตลอดสายช่วงลำลูกกา-สมุทรปราการ 65 บาท เตรียมรับมอบรถใหม่ 12 ขบวนแก้แออัด พร้อมชงบิ๊กตู่ปลดล็อคกฎหมายเวนคืนที่ก่อสร้างอาคารจอดแล้วจร

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยว่าความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ วงเงิน 2.76 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นด้านงานโยธา โครงสร้างและงานระบบราง 2.1 หมื่นล้านบาท และด้านติดตั้งระบบเดินรถ 6.58 พันล้านบาทนั้นการก่อสร้างงานโยธาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการติดตั้งระบบเดินรถ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดทดสอบระบบได้ภายใน ต.ค.นี้ ก่อนเปิดให้บริการภายใน ธ.ค. 2561 อย่างไรก็ตามบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เตรียมทยอยรับมอบขบวนรถไฟฟ้าและนำมาทดสอบระบบภายในเดือน มิ.ย.นี้ โดยในช่วงของการเปิดให้บริการนั้น จะมีขบวนรถไฟฟ้าเข้ามารวมทั้งสิน 12 ขบวน และเชื่อว่าจะช่วยลดความแออัดของผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ที่ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการวันละประมาณ 800,000 คนต่อวัน อย่างไรก็ตามเบื้องต้นทาง BTS ได้เสนออัตราค่าโดยสารที่จะจัดเก็บสำหรับรถไฟฟ้าตั้งแต่สายสีเขียว (สายเหนือ) ช่วงลำลูกกา-คูคต ถึงช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการอยู่ที่ประมาณ 65 บาท

นายไพรินทร์กล่าวต่อว่าส่วนเรื่องการโอนหนี้สินและทรัพย์สินนั้นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)อยู่ระหว่างการเร่งเจรจากับกรุงเทพมหานคร(กทม.)เพื่อหาข้อสรุปว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ โดย รฟม. ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อนำมาดำเนินการเองในรูปแบบของเอกชนร่วมทุน(PPP) ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดให้เจรจาให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด และยืนยันว่าจะทันก่อนเปิดให้บริการอย่างแน่นอน

สำหรับความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตนั้น ปัจจุบันงานก่อสร้างงานโยธาคืบหน้าประมาณ 60% โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2563 ขณะที่งานก่อสร้างอุโมงค์แยกรัชโยธิน ก็คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในปีนี้ โดยถือว่าเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี หรือ TOD บริเวณสถานีเคหะฯ ที่มีลานจอดแล้วจร พื้นที่ 18 ไร่นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อปลดล็อคข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.เวนคืนเพื่อเปิดทางให้รัฐสามารถนำที่ดินเวนคืนโดยเฉพาะที่ดินตามแนว รถไฟฟ้ามาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) กล่าวว่าสำหรับรถที่จะนำมาทดสอบระบบเดินรถนั้น ทางบีทีเอสจะนำรถมาทดสอบระบบจำนวน1ขบวน โดยจะวิ่งบนรางจริง เพื่อดูสมรรถนะของรถ ระบบไฟฟ้าต่างๆ หากเกิดปัญหาจะได้ให้โรงงานผู้ผลิตรถสามารถแก้ไขได้ ทั้งนี้จะสามารถเริ่มทดสอบระบบได้ประมาณปลายเดือนมิ.ย.หรือต้นก.ค.นี้ โดยจะใช้ระยะเวลาการทดสอบทั้งหมด2เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเปิดให้บริการปลายปีนี้ สำหรับรถไฟฟ้าที่ทางบริษัทได้ดำเนินการสั่งซื้อรถไฟฟ้าจำนวน 46 ขบวน 184 ตู้ มูลค่าทั้งหมดประมาณ 11,000 ล้านบาท บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ฯ จำนวน24 ขบวน และจากบริษัท ซีเมนส์ฯ 22 ขบวน
ซึ่งจะได้ครบทั้งหมดในปี2563