posttoday

โบสถ์คริสต์ สัญลักษณ์เสรีภาพ นับถือศาสนาในล้านนา

01 เมษายน 2561

สยามอัศจรรย์ ตามร่องรอยฝรั่งในล้านนา ตอนที่ 2 ยังสำรวจโบสถ์แห่งแรกของคริสตจักรที่ล้านนาต่อ

โดย สมาน สุดโต

สยามอัศจรรย์ ตามร่องรอยฝรั่งในล้านนา ตอนที่ 2 ยังสำรวจโบสถ์แห่งแรกของคริสตจักรที่ล้านนาต่อ เพราะเป็นสัญลักษณ์หลายอย่าง เช่น แสดงถึงสยามและล้านนาใจกว้างประกาศให้เสรีภาพในการนับถือศาสนามาแต่รัชกาลสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5

เป็นโบสถ์ที่มีการสร้างตามแบบสถาปัตย กรรมตะวันตกแห่งแรกในเชียงใหม่ ที่สร้างด้วย “ไม้สักทอง” ทั้งหลัง  ศิลปกรรมโกธิกแบบอเมริกันโคโลเนียล เป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมโบสถ์คริสต์ในภาคเหนือ และเป็นโบสถ์ที่แสดงถึงความสำเร็จในการนำคริสต์ศาสนาไปลงรากปักฐานที่ล้านนาได้สำเร็จ 

โบสถ์คริสต์ สัญลักษณ์เสรีภาพ นับถือศาสนาในล้านนา

โครงการวัฒนธรรมสัญจรฝรั่งในล้านนา จัดโดยกลุ่มแปลและเรียบเรียงสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 15-18 มี.ค.นั้น เมื่อคณะเดินทางโดยรถไฟขบวนอุตราวิถี จากหัวลำโพงในตอนค่ำถึงเชียงใหม่ในตอนเช้า ก็ไปตามจุดนัดหมาย เริ่มที่โรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน ที่ตั้งโบสถ์คริสต์แห่งแรกเมื่อ 147 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 19 ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่

การสร้างโบสถ์ แปลว่า คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน (American Presbyterian Church) ประสบความสำเร็จในการปลูกศรัทธาศาสนาใหม่ให้แก่ชาวล้านนา แม้ว่าช่วงแรกๆ เจ้ากาวิโลรส เจ้าผู้ปกครองไม่พอใจ ถึงกับให้สังหารผู้เข้ารีต 2 คน คือ หนานชัยและน้อยสุริยะ สร้างความหวาดหวั่นต่อคนที่มีศรัทธาในพระเจ้า แต่แมคกิลวารีมิได้ท้อ นำปัญหานี้ปรึกษากับกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาจากนั้นได้นำความดังกล่าวขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผ่านทางข้าหลวงใหญ่ และในเวลาต่อมามีพระบรมราชโองการ “เรื่องการนับถือศาสนา” (Edict of Toleration) ประกาศเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2421 ที่มีใจความอนุญาตให้ประชาชนนับถือศาสนาใดก็ได้อย่างเสรี จึงนับเป็นการให้เสรีภาพทางการนับถือศาสนาอย่างแท้จริง

โบสถ์คริสต์ สัญลักษณ์เสรีภาพ นับถือศาสนาในล้านนา

หลังจากนั้น มิชชันนารีได้ขยายงานออกไปอย่างกว้างขวาง กระทั่งหนานนันตา คริสเตียนผู้เลื่อมใสได้ยกที่ดินมรดกให้เพื่อสร้างโบสถ์คริสตจักรเชียงใหม่ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิงทิศตะวันออก โดยมี ดร.มาเรียน เอ. ชีค(Dr. Marion Alonzo Cheek) มิชชันนารี
ชาวอเมริกัน ซึ่งทำงานอยู่กับศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง โดยได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ และคนท้องถิ่นสมทบอีก 1,800 บาท

ดังบันทึกของศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี ที่ว่า “...ป้าก้อน ซึ่งเป็นทาสเก่าแก่ของเจ้าหลวงบริจาคเหรียญเงินหนึ่งรูปี ซึ่งเป็นเงินจำนวนแรกที่ได้รับในการสร้างโบสถ์...” หลังจากที่สร้างโบสถ์แล้วเสร็จ ได้ทำพิธีนมัสการพระเจ้ามอบถวายพระวิหาร ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2434 โดยมีศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี เป็นผู้เทศนา และ ดร.วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ เป็นผู้อธิษฐานมอบถวายโบสถ์แด่องค์พระผู้เป็นเจ้า โบสถ์แห่งนี้จึงนับเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญแห่งเสรีภาพในการนับถือศาสนาในแผ่นดินล้านนา

อาคารหลังนี้จึงเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแห่งแรกในเชียงใหม่ที่สร้างด้วย “ไม้สักทอง” ทั้งหลัง ศิลปกรรมโกธิกแบบอเมริกันโคโลเนียล ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และยุคการให้สัมปทานป่าไม้แก่ชาวตะวันตกในล้านนา โดยได้รับการสนับสนุนวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง จากโรงเลื่อยไม้ของ ดร.มาเรียน เอ.ชีค ที่ลาออกจากงานมิชชั่น ไปประกอบกิจการนายหน้าค้าไม้ให้บริษัท บริติช บอร์เนียว ในภาคเหนือ

โบสถ์คริสต์ สัญลักษณ์เสรีภาพ นับถือศาสนาในล้านนา

เทคโนโลยีและวิทยาการการสร้างอาคารไม้ดังกล่าวส่งผลให้อาคารหลังนี้เป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมโบสถ์คริสต์ในภาคเหนือ และชุมชนอันห่างไกลในแผ่นดินล้านนา

เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2433 เสร็จเปิดใช้ใน พ.ศ. 2344 นับว่าเป็นโบสถ์ที่แสดงให้เห็นว่าล้านนา หรือสยาม ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างแท้จริง

เมื่อ พ.ศ. 2511 คณะธรรมกิจคริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่ ได้สร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้นแทนที่ ถนนเจริญราษฎร์ ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อาคารโบสถ์คริสตจักรหลังแรกนี้ จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน

โบสถ์คริสต์ สัญลักษณ์เสรีภาพ นับถือศาสนาในล้านนา

วันที่คณะไปชมนั้น พบว่าภายนอกและภายในได้รับการรักษาอย่างดี แม้ว่าอายุ 147 ปีแล้ว แต่ยังใช้งานเป็นประจำ เช่น เป็นสถานที่อบรมคริสตธรรมแก่นักเรียนทุกสัปดาห์ หมุนเวียนกันไประหว่างนักเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีรวมกัน 1,800 คน ครู 75 คน การที่ดูแลรักษาดี มีผลให้ได้รับรางวัล “อาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น” จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2558

โบสถ์แห่งแรกอายุ 147 ปี สัญลักษณ์แห่งเสรีภาพการนับถือศาสนาในล้านนา และจะมีการฉลอง 150 ปี คริสตจักรในล้านนา วันที่ 19 เม.ย. 2561 ที่เชียงใหม่