posttoday

‘ปริญญา พรศิริชัยวัฒนา’ ผู้บุกเบิกออร์แกนิกฟาร์มในประเทศไทย

22 ตุลาคม 2560

"ปริญญา พรศิริชัยวัฒนา" ผู้ก่อตั้งออร์แกนิกรังสิตฟาร์ม

"ปริญญา พรศิริชัยวัฒนา" ผู้ก่อตั้งออร์แกนิกรังสิตฟาร์ม หนึ่งในผู้บุกเบิกฟาร์มออร์แกนิกเป็นรายต้นๆในประเทศไทยเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทยขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ รวมถึงได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย โดยปัจจุบัน "ปริญญา" ดำรงตำแหน่งประธานชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย และรองประธานมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย

มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย เป็นองค์กรจิตอาสาที่ไม่แสวงกำไร ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นรวมถึงร่วมกำหนดเงื่อนไขในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย และพบว่ามีเกษตรกรรายย่อยที่ทำเกษตรอินทรีย์จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงมาตรฐาน จึงผลักดันระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือที่เรียกกันว่า "พีจีเอส" Participatory Guarantee Systems เป็นระบบการรับรองที่มุ่งเน้นการรับประกันคุณภาพในท้องถิ่น โดยการรับรองเกษตรกรผู้ผลิตขึ้นอยู่กับกิจกรรมการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง และถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานความไว้วางใจ สังคมเครือข่าย และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

"พีจีเอส" เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน เช่น พึ่งพาตนเองได้ ลดปัญหาค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองที่มีราคาสูง จากการขับเคลื่อนโครงการนำร่องของมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย ส่งผลให้ "พีจีเอส" ถูกนำไปขับเคลื่อนในระดับนโยบายและอยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ทางมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยได้ถูกเชิญไปช่วยจัดทำระบบให้ในหลายหน่วยงาน มีสมาชิกเกษตรกรทั้งเก่าและใหม่เพิ่มมากขึ้นอีกนับหมื่นราย

"ปริญญา" กล่าวต่อว่า การร่วมผลักดันโครงการนี้ เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม หากสังคม เข้มแข็งมั่นคง ทุกคนในสังคมก็จะมีชีวิตที่ดี เป็นอยู่อย่างมีความสุข และออร์แกนิกไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ แต่คือสิ่งที่เป็นจริงจับต้องได้ และสามารถนำพาความสุขสมบูรณ์กลับคืนสู่ระบบสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน คนไทยทำได้และจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจและทรัพยากร เป็นที่ชื่นชมของคนทั่วโลก เขาเชื่ออย่างนั้น

ส่วนการเข้ามาเริ่มเข้าทำออร์แกนิกฟาร์มก็อาศัยความรู้และประสบการณ์จากพื้นฐานเดิมที่คุณพ่อได้เป็นผู้ก่อตั้งรังสิตฟาร์มเมื่อหลายสิบปีก่อน ส่งผลผลิตสู่ครัวโรงแรมชั้นหนึ่งในกรุงเทพฯ จึงเห็นกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำตลอดมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ประกอบกับมีแนวคิดว่าภาคเกษตรเป็นหลักของประเทศที่ถูกละเลย ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพมากด้านนี้ ในขณะที่การผลิตและการบริโภคอาหารออร์แกนิกเติบโตอย่างเข้มแข็งในต่างประเทศ ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำประเทศไทยก็ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงนั้นที่เรียกกันว่า ฟองสบู่แตก แต่กระแสออร์แกนิกกลับเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง

"ผมเองแม้ว่าจะไม่ได้เรียนมาสายเกษตร แต่มีความสนใจจึงได้ทำออร์แกนิกรังสิตฟาร์มมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งช่วงอดีตที่ผ่านมาเมื่อ 20 ปีก่อน เกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิกเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย รังสิตฟาร์มได้ขยายแปลงผลิตไปที่วังน้ำเขียว เนื่องจากมีภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการทำออร์แกนิกฟาร์ม ผลิตได้หลากหลาย" ปริญญา กล่าว

หากย้อนกลับไป 50-60 ปีก่อน ประเทศไทยไม่ได้ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการทำเกษตร เป็นเกษตรอินทรีย์มานาน แต่มาเปลี่ยนตามกระแสนิยมสารเคมีการเกษตร ที่เน้นผลิตเชิงปริมาณเท่านั้น เป็นเหตุให้ สารเคมีอันตรายปนเปื้อนในผลิตผล จึงเกิดแนวคิดที่จะทำออร์แกนิกฟาร์มโดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์การเกษตร

"ปริญญา" กล่าวต่อว่า การทำเกษตรอินทรีย์ช่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตเกษตรกรไทยอย่างมาก โดยเมื่อได้มีการปรับมาสู่เกษตรอินทรีย์ ทุกคนต่างมีความสุขและมีชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายจึงเกิดการเอื้อเฟื้อแบ่งปันด้านต่างๆ เกิดเป็นสังคมพร้อมให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำและสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้อย่างไม่จำกัด

"ผมได้คุยกับภรรยา คุณมาลี ซึ่งเป็นลูกสาวเจ้าของสวนส้มบางมด ได้เล่าให้ฟังว่า สวนส้มในอดีตก็ไม่ได้ใช้ปุ๋ยยาเคมีมาก่อน ต้นส้มมีอายุยืนยาวกว่า 20 ปี ยังสามารถเก็บผลผลิตได้ ต่างจากสวนส้มในปัจจุบัน เพราะการใช้ปุ๋ยยาเคมีทำให้ต้นส้มอ่อนแอเป็นโรคระบาดจนหลายพื้นที่ปลูกส้มไม่ได้ผลผลิต หลายพื้นที่เลิกปลูกส้มกันไปแล้ว เช่น จันทบุรี รังสิต กำแพงเพชร เป็นต้น" ปริญญา กล่าว

เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจอยากทำออร์แกนิกฟาร์มนั้น เป็นงานที่ต้องทำอย่างใกล้ชิดและควรดูแลด้วย ตัวเอง เพราะจะทำให้ได้เห็นรายละเอียด ได้เรียนรู้และเพิ่มทักษะใหม่ เกิดการพัฒนาได้ต่อเนื่อง ทำให้ประสบความสำเร็จ เป็นงานที่ต้องทุ่มเทลงมือทำด้วยหัวใจและความรัก ซึ่งเกษตรอินทรีย์ประกอบด้วยทั้งศาสตร์และศิลป์ เกี่ยวข้องกับพลังชีวิต เป็นงานที่ท้าทาย ทำในเรื่องที่หลายคนไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้

"ปริญญา" กล่าวทิ้งท้ายว่า การผลักดันเรื่องออร์แกนิก ที่ผ่านมาร่วม 20 ปี จนถึงปัจจุบันไม่ใช่งานที่จะสำเร็จง่ายๆ แต่มาจากการทำด้วยใจ จึงก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ มาได้ และจะทำต่อไป เพราะตอนนี้มีหลายหน่วยงานเรียกใช้ให้ไปเป็นกรรมการ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จึงไม่ค่อยมีเวลาทำงานในฟาร์มเหมือนก่อน แต่จะทำไปอีกนานเท่าที่จะมีกำลัง อย่างน้อยก็เป็นกำลังใจให้เกษตรกรที่สนใจทำออร์แกนิกฟาร์มได้มีความมุ่งมั่น ให้หลายภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญ เพราะออร์แกนิกไม่ใช่เพียงเป็นเทรนด์ แต่เป็นความมั่นคงทางอาหาร เป็นการพึ่งพาตนเองได้ เป็นการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ อย่างรู้คุณค่าอันนำมาซึ่งความยั่งยืนถึงชั่วลูกชั่วหลาน โดยเฉพาะผู้บริโภคที่รักสุขภาพควรหันมาใส่ใจ