posttoday

ผุดสะพาน"โกลเด้นเกต"เมืองไทย ข้ามเจ้าพระยามูลค่า5หมื่นล้าน

11 ตุลาคม 2560

เดินหน้าโครงการสะพานโกลเด้นเกตเมืองไทย มูลค่า 5 หมื่นล้าน ส่ง สผ.อนุมัติอีไอเอภายใน 2 ปี

เดินหน้าโครงการสะพานโกลเด้นเกตเมืองไทย มูลค่า 5 หมื่นล้าน ส่ง สผ.อนุมัติอีไอเอภายใน 2 ปี

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ออกแบบโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยา เชื่อมโยงพื้นที่ จ.สมุทรปราการ และสมุทรสาคร วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้วแต่ยังถูกประชาชนบริเวณแนวเส้นทางพาดผ่านพระราม 2 ร้องเรียน จึงต้องทำความเข้าใจ

อย่างไรก็ดี หลังทำความเข้าใจแล้วจะส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อนุมัติ ซึ่งคาดว่า สผ.จะใช้เวลาพิจารณา 1-2 ปี โดยโครงการนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อแก้ปัญหาจราจรในอนาคต โดยกรมทางหลวงชนบทเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

นายพิศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ที่เป็นโครงข่ายเชื่อมการเดินทางและแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงเชื่อมการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์จากนิคมภาคตะวันออกและท่าเรือแหลมฉบังไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอีกด้วย

สำหรับสะพานแห่งนี้มีระยะทาง 59 กม. ขนาด 6 ช่องจราจร แบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงที่ 1 เริ่มจากถนนพระราม 2 บริเวณก่อนถึงทางแยกถนนบ้านแพ้ว-พระประโทน จากนั้นจะข้ามคลองสุนัขหอน ข้ามทางรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลอง เลี้ยวซ้ายผ่านพื้นที่นาเกลือ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และพื้นที่เกษตร ก่อนจะข้ามแม่น้ำท่าจีนข้างป่าชายเลนของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน จ.สมุทรสาคร จากนั้นเลี้ยวขวาจนสิ้นสุดโครงการช่วงที่ 1 ระยะทาง 15 กม.

ช่วงที่ 2 เริ่มจากจุดเชื่อมต่อกับถนนสหกรณ์ขนานกับคลองพิทยาลงกรณ์ ผ่านพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่นาเกลือ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาครแขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ มหานคร และ ต.บ้านสวน นาเกลือ แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ สิ้นสุดโครงการช่วงที่ 2 ระยะทาง 27 กม.

ช่วงที่ 3 เริ่มจากจุดเชื่อมต่อถนนประชาอุทิศ-วัดคู่สร้าง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกองเรือทุ่นระเบิด ผ่านถนนท้ายบ้าน วัดอโศการาม ถนนสุขุมวิท ถนนแพรกษา สิ้นสุดโครงการช่วงที่ 3 ที่ถนนเทพารักษ์ ระยะทาง 20 กม. มีรูปแบบการก่อสร้างลักษณะเดียวกับสะพานโกลเด้นเกตในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา