posttoday

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี เรื่องดีๆ ที่คนมีรายได้ไม่ควรละเลย

05 กันยายน 2560

โดย...พรี่หนอมสอนภาษี TAXBugnoms

โดย...พรี่หนอมสอนภาษี TAXBugnoms

ทําไมคนไม่ค่อยยื่นภาษีครึ่งปี? คำถามนี้ผุดขึ้นในหัวของผม ตอนที่กำลังจะเขียนบทความพอดี เลยขอหยิบหัวข้อนี้มาขยายความต่อสักหน่อยให้อ่านกัน

ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหา ผมขอเล่าเรื่องจากประสบการณ์ในการทำงานของผมให้ฟังเกี่ยวกับภาษีตัวนี้ เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยยื่นภาษีครึ่งปีนั้น มีอยู่ 2 ข้อ คือ

ไม่รู้ว่าต้องยื่นภาษีครึ่งปีรู้แล้วว่าต้องยื่น แต่ขี้เกียจ ไปยื่นทีเดียวสิ้นปีเลยละกัน

เหตุผลข้อแรกนั้นพอจะเข้าใจได้ แต่เหตุผลข้อที่สองนั้นมันก็เป็นอะไรที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะทำอยู่ดี เพราะว่าอย่างที่ทราบกันดีว่าคนเราต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง อันแรก คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี ที่ทุกคนมีหน้าที่ต้องยื่นทุกประเภทรายได้ กับภาษีเงินได้ครึ่งปี ที่มีเฉพาะรายได้ประเภทที่ 5-8 เท่านั้นที่ต้องยื่นภาษี

แต่ประเด็น คือ ต่อให้ยื่นภาษีครึ่งปี (สำหรับเดือน ม.ค.-มิ.ย.) ไปแล้ว ตอนเต็มปีก็ต้องยื่นคำนวณรายได้ของทั้งปีอีกที (สำหรับเดือน ม.ค.-ธ.ค.) แบบนี้ก็รอทีเดียวก็ได้ จะได้จ่ายเงินออกจากกระเป๋าทีเดียวแบบสบายๆ ไม่ต้องมาจ่ายสองรอบ แฮ่

ถ้าจะพูดเรื่องโทษของการไม่ยื่น ก็จะมีเรื่องของค่าปรับจำนวน 200 บาท และเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนเท่านั้น ฟังดูแล้วมันก็ไม่ได้เยอะแยะอะไร แถมถ้ายื่นตอนเต็มปี พี่เจ้าหน้าที่สรรพากรบางทีก็ใจดีไม่ได้มาโวยวายอะไร ถ้อยที ถ้อยอาศัยกันไปอีกต่างหาก

นั่นแหละครับ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตคนที่ทำงานด้านภาษีอย่างผม ถ้าเปรียบเทียบว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีเป็นคนในครอบครัว ศักดินาของเขาก็คงเป็นได้แค่ลูกเมียน้อยตกอับ ที่ไม่มีใครคิดจะรับมาใส่ใจ

เขียนมาถึงตรงนี้ ไม่ใช่บอกว่าไม่ต้องยื่นภาษีครึ่งปีนะครับ แต่กำลังจะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ หากใครจำบทความที่ผมเขียนไปเมื่อเดือนที่แล้วได้ หรือติดตามข้อเขียนในแฟนเพจ TAXBugnoms อยู่เป็นประจำ จะเห็นว่าผมมีการเน้นเรื่องของการยื่นภาษีครึ่งปีอยู่บ่อยๆ ว่าให้ยื่นเพื่อแสดงรายการให้ถูกต้อง แต่สำหรับปีนี้คงต้องเน้นให้ยื่นเป็นพิเศษ เพราะมัน “อาจจะ” ถูกใช้เป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่สรรพากรใช้พิจารณาว่าผู้เสียภาษีทั้งหลายยื่นภาษีไว้ถูกต้องหรือไม่ และถ้าเป็นแบบนั้นจริง เราเองอาจจะได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษ

แหม...พอพูดแบบนี้ เลยเป็นเรื่องที่น่าสนใจขึ้นมาทันทีครับ เพราะการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นมันอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องใส่ใจสำหรับบุคคลธรรมดาทุกคน คือ คำถามที่ว่า แล้วเราต้องยื่นภาษีครึ่งปีหรือเปล่า (หว่า)

พรี่หนอมขอสรุปสิ่งที่กฎหมายนั้นว่าไว้ตามนี้ให้ฟังแบบง่ายๆ ครับ นั่นคือ

1.ผู้มีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี คือ ผู้ที่มีรายได้ประเภทที่ 5-8 ตามกฎหมาย (มาตรา 40(5)-(8)) ที่ได้รับเงินได้ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.ในปีนั้นๆ เกิน 6 หมื่นบาท (กรณีมีคู่สมรส รวมกันเกิน 1.2 แสนบาท) โดยต่อให้ยื่นแล้วจะต้องเสียภาษีหรือไม่เสียก็ต้องยื่นไปครับ เพื่อความถูกต้องนั่นเอง

2.การหักค่าใช้จ่าย ให้ใช้ตามที่กฎหมายกำหนดตามประเภทเงินได้ ซึ่งจะเลือกหักได้แตกต่างกันไป แต่สำหรับรายได้ทุกประเภทที่ยื่นภาษีครึ่งปีนั้นจะสามารถเลือกได้ว่าจะหักเหมาหรือหักตามจริง (จำเป็นและสมควร)

3.ค่าลดหย่อน สามารถหักตามที่กฎหมายกำหนดได้ บางตัวที่เป็นค่าลดหย่อนแบบทั้งจำนวน จะหักได้เพียงครึ่งเดียว เพราะเป็นการยื่นภาษีครึ่งปี เช่น ลดหย่อนส่วนตัวเหลือเพียง 3 หมื่นบาท จาก 6 หมื่นบาท แต่สำหรับตัวที่เป็นการยกเว้นจากเงินได้นั้นสามารถลดได้เต็มจำนวนครับ เช่น แอลทีเอฟ ได้ 15% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท (แต่ต้องเป็นการซื้อในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.)

4.ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ ให้ยื่นภายในวันที่ 30 ก.ย.ของทุกปี

5.ใช้เป็นเครดิตภาษีได้ ภาษีที่เสียไปของรอบครึ่งปี สามารถนำไปเครดิตภาษีหักออกจากภาษีที่ต้องเสียตอนปลายปีได้ ยกตัวอย่างเช่น นายบักหนอม จ่ายภาษีครึ่งปีไว้ 500 บาท แต่พอปลายปีคำนวณภาษีได้ 600 บาท นายบักหนอมก็จ่ายเพิ่มแค่ 100 บาทเอง ทำนองนี้ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายนั่นเองครับ

และที่สำคัญ ถ้าหากใครยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต ทุกอย่างที่พูดมา 1-5 ข้อนี้สามารถกรอกและคำนวณได้ง่ายๆ โดยที่ไม่เสียเวลามากเลยครับ และถ้าหากเป็นคนที่เคยยื่นภาษีปลายปีมาแล้ว ก็ยิ่งสบายเข้าไปใหญ่ เพราะการใช้งานก็ไม่แตกต่างกันแต่อย่างใดเลยละครับ

สุดท้ายนี้ที่เขียนมาทั้งหมดพรี่หนอมอยากเชิญชวนให้ทุกคนลองมายื่นภาษีครึ่งปีกันครับ เพราะถ้าหากว่ายื่นถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของคนไทยทุกคนแล้ว สิ่งที่เราได้รับกลับมานอกเหนือจากเครดิตภาษีที่ไว้ใช้ตอนปลายปีกับใบเสร็จรับเงิน มันคือความปลอดภัยในการตรวจสอบ และความสบายใจของเราอีกด้วยคร้าบ