ไขปมจอดรถติดเครื่องไว้เหตุไฉนบ.ประกันภัยไม่ต้องรับผิด
ไขข้อข้องใจเหตุไฉนจอดรถยนต์ติดเครื่องคนร้ายลักเอาไปบริษัทรับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความสูญหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ไขข้อข้องใจเหตุไฉนจอดรถยนต์ติดเครื่องคนร้ายลักเอาไปบริษัทรับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความสูญหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
สังคมออนไลน์ขณะนี้ มีการแชร์คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1305/2559 ป.พ.พ.ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด ตามมาตรา 879 วรรคหนึ่ง และมีการตีความไปหลากหลายในวงกว้าง
สำหรับ สรุปคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1305/2559 ข้อความว่า พฤติกรรมของโจทก์ที่จอดรถโดยติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้แล้วลงจากรถไปซื้อของ เป็นการขาดความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์ หากโจทก์ใช้ความระมัดระวังตามสมควรโดยดับเครื่องยนต์และล็อคประตูรถยนต์ให้เรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าคนร้ายไม่สามารถลักรถยนต์ของโจทก์ไปได้โดยง่าย เหตุที่คนร้ายลักรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 897 วรรคหนึ่ง
ทั้งนี้ จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1305/2559 เจ้าของรถจอดไว้ห่างจากจุดซื้อของประมาณ 2 เมตร และต้องใช้เวลารอประมาณ 10 นาที แม้จะห่างจากรถไม่มาก แต่ไม่ได้ยืนอยู่ใกล้รถพอที่จะป้องกันรถได้ ในระหว่างที่รอนี้มีผู้ร้ายได้ลักรถยนต์ไป หากโจทก์ดับเครื่องยนต์และล็อกประตูรถยนต์ให้เรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าคนร้ายไม่สามารถลักรถยนต์ของโจทก์ไปได้โดยง่าย
นายคณานุสรณ์ เที่ยงตระกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) จ.นนทบุรี กล่าวว่า การตีความของสังคมออนไลน์มีความหลากหลาย และมีการนำไปโยงกับการจอดรถไม่ดับเครื่องทิ้งไว้แล้วรถหายในกรณีอื่นๆ ด้วย ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะต้องดูพฤติกรรมของเจ้าของรถ เช่น การจอดรถทิ้งไว้ไม่ดับเครื่อง แล้วลงไปซื้อผลไม้ซึ่งอยู่ในระยะสายตา และหากเกิดเหตุกับรถสามารถวิ่งกลับมาทัน ไม่ถือว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่ถ้าเดินซื้อผลไม้จากร้านหนึ่งไปอีกร้านหนึ่งไปเรื่อยๆ ถือว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ในสังคมออนไลน์มีการแชร์คำพิพากษานี้ และมีความเห็นส่วนตัวตำหนิบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ซึ่งผมเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้อง และสุ่มเสี่ยงกับคดีหมิ่นประมาททั้งในคดีแพ่งและในคดีอาญาได้
คำพิพากษาดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยสรุปได้ว่า การที่จอดรถโดยติดเครื่องทิ้งไว้แล้วลงจากรถไปซื้อของเป็นการขาดความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์ เหตุคนร้ายลักทรัพย์เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดชอบในการสูญหายของรถยนต์
ประเด็นปัญหาแรกคือ อะไรคือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง?
ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหมายถึง การกระทำโดยไม่ได้เจตนาแต่เป็นการกระทำซึ่งบุคคลพึงคาดหมายได้ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้และหากใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจป้องกันมิให้เกิดความเสียหายได้ แต่กลับไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นเลย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยให้ความหมายไว้ในเอกสารตอบข้อหารือว่า “ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจะมีลักษณะไปในทางที่บุคคลนั้นได้กระทำไปโดยขาดความระมัดระวังที่เบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์มาตรฐานอย่างมาก” และ กรณีจะเป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจะต้องเป็นประมาทเลินเล่อเสียก่อน โดยจะเป็นส่วนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างจงใจกับประมาทเลินเล่อธรรมดา
วิกิพีเดีย ให้ความหมายไว้ว่า “ผู้กระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (gross negligence) กฎหมายไม่อภัยให้เลย และจะเรียกร้องใด ๆ ก็มิได้ด้วย เช่น ผู้ได้รับความเสียหายจากการทำสัญญาซื้อขาย โดยที่ตอนทำสัญญานั้นไม่อ่านข้อความในหนังสือสัญญาให้ถี่ถ้วนก่อน เป็นต้น”
ประเด็นปัญหาที่สองคือ บริษัทประกันภัยสามารถปฏิเสธความรับผิดเนื่องจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจริงหรือ?
ประเด็นนี้ มีกฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจน ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 20 หมวด 2 ส่วนที่ 1 ในมาตรา 879 ระบุไว้ชัดเจนว่า “ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นเกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์”
นั่นหมายความว่า ความเสียหายทุกประการที่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยอันเกิดด้วยเหตุประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทั้งสิ้น
ในตัวอย่างคำพิพากษานี้อาจจะเป็นเรื่องของการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการจอดรถติดเครื่องไว้แล้วรถสูญหาย ทำให้บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้เอาประกันภัยโดยตรง
แต่ถ้าความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงได้ส่งผลให้บุคคลภายนอกเสียหายด้วย กรมธรรม์จะให้ความคุ้มครองไปถึงบุคคลภายนอกหรือไม่นั้น ถ้าพิจารณาจากกฎหมายแล้ว
ต้องตีความได้ว่า บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยไว้ไม่ต้องรับผิดในวินาศภัยใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าสำหรับรถยนต์คันเอาประกันภัยไว้หรือแม้แต่ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย หรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
ปัญหาต่อมาที่อาจจะเป็นปัญหาเชิงลึกในการตีความกรณีประกันภัยรถยนต์ มีต่อไปว่า ประกันภัยรถยนต์มีสองส่วน
ส่วนแรก คือประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือประกันภัยตาม พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พงศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551 และประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจนั้น จะไม่คุ้มครองหมดเลยหรือไม่
ประเด็นนี้ ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีเจตนารมณ์สำคัญในการช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นเพื่อช่วยเหลือการบาดเจ็บหรือยื้อชีวิตของผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงนี้ ดังนั้น ในส่วนของความคุ้มครองตาม พรบ. จึงน่าที่จะต้องให้ความคุ้มครองอยู่
เหตุการณ์ที่เข้าหลักของความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่เราได้เห็นในชีวิตประจำวันได้แก่ การขับรถย้อนศร ที่เกิดจากความมักง่ายและเอาสะดวกเข้า จนจะกลายเป็นเรื่องปกติของผู้กระทำและผู้พบเห็นไปแล้วโดยไม่ทันได้คิด ซึ่งนอกจากจะไม่ได้รับความคุ้มครองและยังอาจส่งผลต่อชีวิตของผู้ประมาทแล้ว ยังส่งผลกระทบกับประชนชนทั่วไปที่ใช้รถใช้ถนนอีกด้วย
ประการสุดท้าย การส่งข้อความในกลุ่มไลน์หรือ social network ต่างๆ ถ้ามีข้อความอันอาจทำให้ผู้อื่นถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังก็อาจเข้าข่ายความผิดทั้งในส่วนคดีแพ่งและคดีอาญาด้วย ขอให้ระมัดระวังครับ!