posttoday

คาดไทยไม่ลดดอกเบี้ยตามมาเลย์

14 กรกฎาคม 2559

ซีไอเอ็มบี ไทย ฟันธงกนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย มั่นใจแบงก์ชาติมีกระสุนชนิดอื่นต่อสู้กับสงครามค่าเงินที่กำลังปะทุ

ซีไอเอ็มบี ไทย ฟันธงกนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย มั่นใจแบงก์ชาติมีกระสุนชนิดอื่นต่อสู้กับสงครามค่าเงินที่กำลังปะทุ

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 3 ส.ค. นี้  คาดว่า ที่ประชุมจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5% แม้สงครามค่าเงินในภูมิภาคจะกลับมาปะทุรอบใหม่ จากการที่ธนาคารกลางมาเลเซียได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยปรับลดลง 0.25% มาอยู่ที่ 3%

ทั้งนี้ กนง.คงไม่ปรับลดดอกเบี้ยตาม เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดในภูมิภาคแล้ว กนง.น่าจะเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็นหากเกิดวิกฤตในต่างประเทศ เช่น เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงแรงกว่าคาด หรือปัญหาเบร็กซิท กระทบเศรษฐกิจยุโรป และห่วงการแสวงหาผลตอบแทนสูง (search-for-yield) ในสินทรัพย์เสี่ยง ที่อาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่

"นอกจากนี้ สิ่งที่ผมกล่าวมาราวปีเศษๆ คือไทยใกล้เดินเข้าสู่กับดักสภาพคล่อง คือต่อให้ดอกเบี้ยลดต่ำลง สินเชื่อก็ไม่เติบโต อันสะท้อนว่าประสิทธิผลของดอกเบี้ยต่ำ และอาจส่งผลให้ไทยใกล้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน" นายอมรเทพ กล่าว

นายอมรเทพ กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีเครื่องมือทางการเงินที่จะเข้ามาสู้ศึกสงครามค่าเงิน อาทิ การออกมาตรการผ่อนคลายอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม เพื่อให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าการลดดอกเบี้ย สนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัยฯ ยังมองบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่าที่ระดับ 36.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐในช่วงปลายปี และคงประมาณการอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% ต่อปี พร้อมแนะนำผู้นำเข้าและผู้ส่งออกป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพราะมีความเป็นไปได้ที่ ธปท. อาจผ่อนคลายมาตรการทุนเคลื่อนย้าย หรือดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตามองในเดือนนี้ มีประเด็นการประชุมของธนาคารกลางในหลายประเทศ เฟดมีแนวโน้มจะส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยได้หากตัวเลขเศรษฐกิจดี ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ของจีนหากออกมาต่ำอาจใช้นโยบายการเงินกระตุ้น ส่วนเดือนส.ค. มีรายงานจีดีพีไตรมาส 2 ของไทย และหลายประเทศ จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น ขณะที่เดือน ก.ย. มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ ที่ทำให้นโยบายการเงินทั่วโลกหยุดรอสัญญาณจากเฟด