posttoday

แลกหนี้รฟท.ส่อไม่ถึง6หมื่นล.

25 พฤษภาคม 2559

ธนารักษ์แย้มแลกหนี้ รฟท. ยอดอาจลดลงเหลือไม่ถึง 6 หมื่นล้าน เตรียมเสนอซูเปอร์บอร์ดเคาะราคาสุดท้าย

ธนารักษ์แย้มแลกหนี้ รฟท. ยอดอาจลดลงเหลือไม่ถึง 6 หมื่นล้าน เตรียมเสนอซูเปอร์บอร์ดเคาะราคาสุดท้าย

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยความคืบหน้าการโอนที่ดินบริเวณสถานีรถไฟมักกะสัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งคืนให้กรมธนารักษ์ ว่า ตามโครงการหนี้แลกกับการเช่าที่ดินของ รฟท. ที่จะให้กระทรวงการคลังเช่า 99 ปี เพื่อแลกกับภาระหนี้สินของ รฟท. มูลค่า 6.1 หมื่นล้านบาทนั้น ทาง รฟท.ได้หารือและได้ข้อสรุปแจ้งกลับมาแล้วว่า จะมีพื้นที่ประมาณ 30-40 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 497 ไร่ ที่รฟท.ไม่สามารถย้ายออกไปได้ เช่น พื้นที่ในส่วนของโรงเรียนและอื่นๆ  คิดเป็นมูลค่าราว 3,000-4,000 ล้านบาท ที่จะต้องนำมาหักล้างกับมูลค่าที่ดินทั้งหมดที่ต้องการจะแลกหนี้

ทั้งนี้ กรมธนารักษ์จะต้องนำข้อสรุปเรื่องภาพรวมทั้งหมด ทั้งเรื่องพื้นที่ที่ รฟท.จะให้เช่า ซึ่งน่าจะลดลงเหลือราว 460 ไร่ คาดว่าจะลดลงเหลือ 5.7-5.8 หมื่นล้านบาท และจะมีผลต่อวงเงินที่จะแลกหนี้ โดยกรมธนาคารจะเสนอให้คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะผู้กำกับดูแลและมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเห็นชอบ ในการหักราคาในส่วนพื้นที่ที่ไม่สามารถคืนได้ตามในกรอบดังกล่าว จากนั้นก็พร้อมเดินหน้าทำข้อตกลงในการส่งมอบพื้นที่ส่วนแรกทันที

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ คนร.เร่งรัดการพัฒนาที่ดินมักกะสันที่ รฟท.ใช้แลกหนี้กับกระทรวงการคลัง 6.1 หมื่นล้านบาท ซึ่ง รฟท.จะใช้เวลา 2 ปีส่งคืนพื้นที่ แบ่งเป็น 7 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่บริเวณย่านโรงงานมักกะสันและสถานีแอร์พอร์ตลิงค์ 105 ไร่ ส่งมอบวันที่เซ็นข้อตกลงในสัญญา คาดว่าจะดำเนินการได้ในต้นเดือน ก.ค.นี้ ส่วนพื้นที่โรงงานมักกะสันและอาคารคลังพัสดุ 5 หลัง 30 ไร่ คาดว่าส่งมอบได้ช่วงเดือน มิ.ย. 2560 และพื้นที่อาคารโรงงาน โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร และนิคมรถไฟมักกะสัน รวม 313 ไร่ ส่งมอบช่วงเดือน มี.ค. 2561

สำหรับหนี้สินของ รฟท.มีสะสมทั้งหมดประมาณ 1 แสนล้านบาท และมีภาระดอกเบี้ยเกิดขึ้นปีละ 3,000 ล้านบาท หากลดจำนวนหนี้ลงจะลดภาระดอกเบี้ยลงเหลือปีละ 1,000 ล้านบาท และจะช่วยให้ รฟท.มีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น มีเงินเพียงพอที่จะนำไปใช้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน  คือ รางและขบวนรถไฟ ตามแผนฟื้นฟูฯ กิจการของ รฟท.ที่เสนอต่อซูเปอร์บอร์ด จะมีการสร้าง รายได้จากที่ดินที่มีอยู่ให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งติดตามค่าเช่าที่ดินที่หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่เช่าที่ดินการรถไฟทำประโยชน์อยู่ แต่ยังค้างชาระค่าเช่า