posttoday

ตั้งศูนย์ฯเอสเอ็มอีป้อนข้อมูล"แบงก์"

09 เมษายน 2556

ธปท. ตั้งศูนย์บริการธุรกิจเอสเอ็มอี หวังป้อนข้อมูลให้แบงก์พาณิชย์ใช้วิเคราะห์สินเชื่อลูกค้ารายตัว พร้อมยืดหยุ่นเกณฑ์เปิดสาขา

ธปท. ตั้งศูนย์บริการธุรกิจเอสเอ็มอี หวังป้อนข้อมูลให้แบงก์พาณิชย์ใช้วิเคราะห์สินเชื่อลูกค้ารายตัว  พร้อมยืดหยุ่นเกณฑ์เปิดสาขา

นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับปรุงเกณฑ์การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ คือ ตั้งศูนย์บริการธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเรียกใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ง่ายขึ้น รวมทั้งปรับปรุงเกณฑ์การเปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยลง จากที่ผ่านมาการกำหนดรูปแบบการเปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์จะต้องให้บริการ รับฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน และเปิด-ปิดบัญชีเงินฝาก ครบทั้ง 4 ประเภท ส่งผลให้มีต้นทุนค่อนข้างสูงเพราะต้องมีค่าสถานที่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ พนักงานจำนวนมาก แต่ต้องปล่อยสินเชื่อให้รายเล็กมากซึ่งอาจไม่คุ้มค่า

"ธปท.ได้ปรับหลักเกณฑ์การตั้งสาขาธนาคารพาณิชย์ให้สามารถเลือกให้บริการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การปล่อยสินเชื่อ หรือการรับฝากเงินโดยเฉพาะ ซึ่งอาจมีพนักงานเพียง 2 คน นอกนั้นให้สามารถว่าจ้างคนในท้องถิ่นให้ทำหน้าที่เรียกเก็บเงิน หรือปล่อยสินเชื่อแทนได้ แต่ต้องได้มาตรฐานที่ธปท.กำหนดคือต้องดูแลด้านความเสี่ยงตามควรไม่ด้อยกว่ามาตรฐานมากเกินไป ดูแลไม่ให้เกิดการโกง รวมถึงการให้ความเป็นธรรมแก่ลูกค้า เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ โดยรูปแบบการทำธุรกรรมของแต่ละธนาคารขึ้นอยู่กับความต้องการทำธุรกิจในแต่ละพื้นที่ เช่น บางธนาคารเน้นการปล่อยสินเชื่อในตลาดสด บางธนาคารเน้นปล่อยสินเชื่อแก่ข้าราชการท้องถิ่น" นางสาลินีกล่าว

นอกจากนี้ ธปท.ได้ผลักดันให้พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจเกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการยื่นต่อ ครม. แล้ว หากกฎหมายเกิดขึ้นจึงจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถขยายหลักประกันได้ครอบคลุมการจดจำนอง จำนำ สิทธิการเช่า สต๊อกสินค้า มูลค่ากิจการ ลิขสิทธิ์ทางปัญญา เป็นต้น จากเดิมจำกัดเพียงที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และยังได้รับสินเชื่อเพียง 60-70% ของมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่เหลือจะใช้บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) เนื่องจากภาคธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโตในอัตราเฉลี่ย 18% จากมูลค่า 3 ล้านล้านบาท ในปัจจุบัน หากเติบโต 10% จะมีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท เติบโต15% มีมูลค่า 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายการค้ำประกันของบสย.ที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ ธปท.ยังต้องการเห็นภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์เข้ามาปล่อยสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์มากขึ้น แต่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินระดับ 15% ต่อปี ไม่จูงใจและไม่คุ้มค่าความเสี่ยง ทั้งนี้ หากพิจารณาการปล่อยสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่นกัมพูชาคิดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 30% บังคลาเทศ 50-60% และยังมีฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว และอื่นๆ ที่ทุกแห่งคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 15% แทบทั้งสิ้น แต่สถิติยังมีคนเข้ามากู้ค่อนข้างมาก เนื่องจากดีกว่าการกู้นอกระบบที่คิดในอัตรา 100% หรือ 1,000%