posttoday

ตามรอยงานอาร์ตสะท้อนวัฒนธรรมภูเก็ต รับเทศกาลศิลปะร่วมสมัย "Thailand Biennale 2025"

16 มกราคม 2567

ตามรอยงานอาร์ตสะท้อนกลิ่นอายวิถีชีวิตและวัฒนธรรมภูเก็ต รับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ "Thailand Biennale 2025" ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิดมหัศจรรย์แห่งการเดินทาง (The Never Ending Journey)

หลังนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน โพสต์แสดงความยินดีกับพี่น้องชาวภูเก็ตที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ ครั้งที่ 4 เทศกาลศิลปะร่วมสมัยที่เชิญศิลปินระดับโลกมาร่วมงาน ซึ่งภูเก็ตถือเป็นอีกเมืองศิลปะ เพราะถูกประกาศให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ มีชื่อเสียงด้านศิลปะ

ประกอบกับศิลปินในพื้นที่ มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น มีการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างต่อเนื่อง ทั้งชาวภูเก็ตเองก็มีความสนใจดึงศิลปะเข้ามาเป็นจุดดึงดูดด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่รู้จักทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เราลองมาดูกันว่าสิ่งที่น่าสนใจและน่าตามรอยในภูเก็ตมีอะไรบ้าง

ตามรอยงานอาร์ตสะท้อนวัฒนธรรมภูเก็ต รับเทศกาลศิลปะร่วมสมัย \"Thailand Biennale 2025\"

“Thailand Biennale Phuket 2025”

ประเทศไทยมีการจัดเทศกาลศิลปะร่วมสมัย “Thailand Biennale” มาแล้ว 4 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดกระบี่ในปี 2018 ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมาปี 2021 ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่เชียงรายปี 2023 ขณะที่ครั้งล่าสุดในปี 2025 เทศกาลศิลปะร่วมสมัยจะจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นระยะเวลา 5 เดือน ภายใต้ชื่อ “Thailand  Biennale Phuket 2025" มหัศจรรย์แห่งการเดินทาง (The Never Ending Journey) โดยพื้นที่การจัดงานจะแบ่งพื้นที่เป็น 4 พื้นที่หลัก กระจายออกเป็นพื้นที่ย่อย 61 พื้นที่ ในอำเภอเมือง 22 พื้นที่ อำเภอถลาง 9 พื้นที่ อำเภอกะทู้ 5 พื้นที่ และพื้นที่บ้านศิลปิน 25 แห่ง

นอกจากนี้การจัดแสดงจะมาใน 4 รูปแบบ ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอถลาง และ อำเภอกะทู้

  • การจัดนิทรรศการของศิลปินไทย

การจัดนิทรรศการของศิลปินไทย จากทั้ง 4 ภาค ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ และศิลปินจากกลุ่มอันดามัน

  • การจัดแสดงนิทรรศการของศิลปินต่างประเทศ

ศิลปินจากต่างประเทศที่สนใจจะมาเปิดพาวิลเลี่ยนในการแสดงนิทรรศการ ในฐานะตัวแทนของประเทศนั้นๆ โดยจะได้รับการประสานงานจากจังหวัด โดยผ่านกงสุลของแต่ละประเทศที่อยู่ในภูเก็ต

  • Art Festival Event

การจัดนิทรรศการหลัก และพื้นที่ ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการจัดวางเฉพาะพื้นที่ ประติมากรรมถารหรือไม่ถาวร หรือการจัดแสดงผลงานในพื้นที่หอศิลป์ หรือภายในอาคารต่างๆ (พื้นที่จัดการแสดงที่เตรียมการไว้) ทางภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำพื้นที่ จะจัดกิจกรรมแสดงศิลปวัฒนธรรม ประกอบงานแสดงนิทรรศการ ในทุกพื้นที่ เพื่อทำให้เกิดการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ เป็นนิทรรศการศิลปะมีชีวิตและทำให้เกิดการเข้าถึงศิลปะในรูปแบบ Local Touch ได้ชัดเจน และมีเสน่ห์มากขึ้น

  • Public Art Landmarks

ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ โรงแรม จะเข้ามามีส่วนในฐานะผู้ลงทุน ในการสร้างผลงานศิลปะแบบถาวร ของศิลปินรุ่นใหม่ จัดวางตามมุมเมืองต่างๆ ของภูเก็ต โดยจะมีโครงการให้ศิลปิน หรือ เยาวชน ผู้สนใจ วาดแบบ ชิ้นงานประติมากรรม ที่สะท้อนแนวคิด ทางธรรมชาติ ทางวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ หรืออื่นๆ คัดเลือกแบบที่ชนะการประกวดโดยให้ทางกลุ่มเอกชน หรือ ภาคโรงแรม มีส่วนร่วมในการคัดเลือกพร้อมสนับสนุนการสร้างประติมากรรม เพื่อวางในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดภูเก็ต อันเป็นเครื่องหมายแสดงความภากภูมิใจในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Thailand Biennale Phuket 2025 ที่จะเกิดขึ้น

ตามรอยงานอาร์ตสะท้อนวัฒนธรรมภูเก็ต

ตามรอยงานอาร์ตสะท้อนวัฒนธรรมภูเก็ต รับเทศกาลศิลปะร่วมสมัย \"Thailand Biennale 2025\"

ประตูเมืองภูเก็ต (Phuket Gateway)

ประตูเมืองภูเก็ตมีจุดเด่นที่สะท้อนประวัติศาสตร์ความเป็นมาและศิลปวัฒนธรรมของภูเก็ต ผ่านข้อมูลที่จารึกบนประติมากรรมเสาศิลา 29 ต้น ที่ร้อยเรื่องราวของภูเก็ต ตั้งแต่ยุครุ่งเรืองจากการทำเหมืองแร่ดีบุก การทำเกษตรกรรม จนถึงยุคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งยังมีประติมากรรมเต่าทะเลกับไข่เต่าขนาดใหญ่หน้าอาคาร  ซึ่งเป็นงานศิลปที่เล่าเรื่องหาดไม้ขาว สถานที่วางไข่ของเต่ามะเฟืองซึ่งอยู่ในจังหวัดภูเก็ต

ที่ตั้ง: ท่าฉัตรไชย ตำบลไม้ขาว ใกล้กับสะพานท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร

ตามรอยงานอาร์ตสะท้อนวัฒนธรรมภูเก็ต รับเทศกาลศิลปะร่วมสมัย \"Thailand Biennale 2025\"

ย่านเมืองเก่า (Phuket Old Town)

สถาปัตยกรรมเก่าแก่สไตล์ชิโนโปรตุกีสในย่านเมืองเก่าของภูเก็ต ถูกสร้างในสมัยที่ชาวจีนและชาวตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาในภูเก็ตเพื่อทำเหมืองแร่ ทำให้เกิดเป็นตึกที่มีการผสมผสานทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกอย่างลงตัว 

ที่ตั้ง: หลาดใหญ่ ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

ตามรอยงานอาร์ตสะท้อนวัฒนธรรมภูเก็ต รับเทศกาลศิลปะร่วมสมัย \"Thailand Biennale 2025\"

Phuket Street Art 12 ผนัง 12 ภาพ 12 วิถีชาวภูเก็ต

Food Art Old Town หรือ  F.A.T Phuket เป็นโครงการรวมผลงานศิลปะริมถนน ในย่านเมืองเก่าของภูเก็ตกับ12 ผนัง 12 ภาพ 12 วิถีชาวภูเก็ต ที่รังสรรค์โดยศิลปินชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งแต่ละภาพจะสะท้อนกลิ่นอายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวภูเก็ตไว้ เพื่อประชาสัมพันธ์ที่ภูเก็ตได้รับรางวัลจาก UNESCO ในฐานะเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร 

ตามรอยงานอาร์ตสะท้อนวัฒนธรรมภูเก็ต รับเทศกาลศิลปะร่วมสมัย \"Thailand Biennale 2025\"

พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว 

ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่ชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดภูเก็ต โดยมุ่งหวังให้ลูกหลานชาวจีนและคนไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับรากเหง้าของบรรพบุรุษของตน เพื่อตระหนักถึงตัวตนและมีส่วนร่วมในการสืบสานวัฒนธรรม จากเดิมเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนฮกเกี้ยนชื่อ "ฮั่วบุ่น" สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2447 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2545

ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 15 ส่วน นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชาวจีนในภูเก็ต ตั้งแต่ประวัติความเป็นมา การอพยพ การปรับตัวเข้ากับสังคมไทย วัฒนธรรมประเพณี อาชีพ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ไปจนถึงเรื่องราวของบุคคลสำคัญชาวจีนในภูเก็ต เช่น ครูสุ่นปิ่น ผู้ก่อตั้งโรงเรียนฮั่วบุ่น

ที่ตั้ง: เลขที่ 28 ถนนกระบี่ ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 

CR. เทศบาลนครภูเก็ต

“วงเวียนหอย” สะพานหิน

อนุสาวรีย์หลัก 60 ปี สร้างขึ้นเมื่อปี 2512 เพื่อรำลึกถึงกัปตันเอ็ดเวิร์ด โธมัสไมล์ ชาวออสเตรเลีย ผู้นำเรือขุดแร่ลำแรกมาใช้ในประเทศไทย ชาวภูเก็ตนิยมเรียกกันว่า "วงเวียนหอย" หรือ "อนุสาวรีย์หอย" เนื่องจากลักษณะคล้ายเปลือกหอย แต่แท้จริงแล้วเป็นการออกแบบที่ผสมผสานรูปทรงของหอยและกะเชอขุดแร่เข้าด้วยกัน

ที่ตั้ง: ถนนภูเก็ต ตำบลวิชิต อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต 3  กิโลเมตร

ทั้งนี้ การเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ "Thailand Biennale 2025" ครั้งที่ 4 ที่จังหวัดภูเก็ต คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจที่เกิดจากค่าที่พัก ค่าเดินทาง อาหาร ช้อปปิ้ง รักษาพยาบาล สปา ฯลฯ กว่า 40,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 15,000 ราย