posttoday

สรุป! การแก้ไขคำใหม่ในงบการเงิน จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือไม่

31 มกราคม 2567

มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับปรับปรุงปี 2566 มีมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 1 เกี่ยวกับการเสนองบการเงิน โดยมีการเปลี่ยนแปลงคำศัพท์ให้สอดคล้องกัน ทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากศัพท์ภาษาอังกฤษยังใช้คำเหมือนเดิมแต่แปลเป็นไทยมีการแก้ไขคำ โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

          ตามที่มีการประกาศมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับปรับปรุงปี 2566 และมีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับรวมเล่ม 2566 โดยมีผลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่หรือหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2567 

          โดยในมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับปรับปรุงปี 2566 มีมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 1 เกี่ยวกับการเสนองบการเงิน โดยมีการเปลี่ยนแปลงคำศัพท์ให้สอดคล้องกันมากขึ้น และทำให้ความหมายถูกต้องมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกด้วย เพราะเนื่องจากศัพท์ภาษาอังกฤษยังใช้คำเหมือนเดิมแต่แปลเป็นไทยมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมคำเพื่อให้กิจการสามารถจำแยกออกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถสรุปได้ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงคำในทางบัญชีมีอะไรบ้าง

          จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงคำ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง สามารถสรุปได้ดังนี้ 

          1.งบแสดงฐานะการเงิน เปลี่ยนเป็น งบฐานะการเงิน

          2.งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น เปลี่ยนเป็น งบการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น

          3.งบกำไรขาดทุน แบบจำแนกตามลักษณะของค่าใช้จ่าย เปลี่ยนเป็น งบกำไรขาดทุน แบบจำแนกตามธรรมชาติของค่าใช้จ่าย 

          4.ค่าใช้จ่ายตามลักษณะ เปลี่ยนเป็น ค่าใช้จ่ายตามธรรมชาติ

          5.ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น เปลี่ยนเป็น ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้หมุนเวียนอื่น และ ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้ไม่หมุนเวียนอื่น

          6.งานระหว่างทำ (Unbill สำหรับธุรกิจที่รับรู้ตาม % of completion) เปลี่ยนเป็น มูลค่าของงานส่วนที่เสร็จแต่ยังไม่ถึงกำหนดเรียกชำระเงิน-หมุนเวียน และ  มูลค่าของงานส่วนที่เสร็จแต่ยังไม่ถึงกำหนดเรียกชำระเงิน-ไม่หมุนเวียน

          7.สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี เปลี่ยนเป็น สินทรัพย์ภาษีเงินได้ของงวดปัจจุบัน และ สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี

          8.เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น เปลี่ยนเป็น เจ้าหนี้การค้าหรือเจ้าหนี้หมุนเวียนอื่น และ เจ้าหนี้การค้าหรือเจ้าหนี้ไม่หมุนเวียนอื่น

          9.รายได้รับล่วงหน้า เปลี่ยนเป็น เงินรับล่วงหน้าส่วนที่เกินกว่างานส่วนที่เสร็จ-หมุนเวียน  และ เงินรับล่วงหน้าส่วนที่เกินกว่างานส่วนที่เสร็จ-ไม่หมุนเวียน

          10.ภาษีเงินได้ค้างจ่าย เปลี่ยนเป็น ภาษีเงินได้นิติบุคคลค้างจ่าย

          11.ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ เปลี่ยนเป็น ภาษีเงินได้

          12.ประมาณการหนี้สินระยะยาว เปลี่ยนเป็น ประมาณการหนี้สินหมุนเวียน สำหรับผลประโยชน์พนักงาน และ ประมาณการหนี้สิไม่หมุนเวียน สำหรับผลประโยชน์พนักงาน หรือ ประมาณการหนี้สินระยะยาวอื่น

          13.การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี  เปลี่ยนเป็น การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี

          14.การเปิดเผยนโยบายการบัญชีที่มีนัยสำคัญที่กิจการใช้ เปลี่ยนเป็น  การเปิดเผยข้อมูลนโยบายการบัญชีที่สาระสำคัญที่กิจการใช้ 

(ข้อมูลจาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=845275920937878&set=pcb.845276160937854)

คำภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม แต่ศัพท์ภาษาอังกฤษยังคงเดิม

          โดยวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมคำของชื่องบการเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับชื่องบการเงินอื่นๆ จะพบว่าข้อความต้นฉบับภาษาไทยของชื่องบการเงินมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันและบางประโยคก็ยังคงเดิม แต่คำศัพท์ภาษาอังกฤษใช้คำเดียวกัน คือคำว่า Statement สามารถอธิบายได้ดังนี้

          1. Statement of financial position   คำแปลภาษาไทย   งบแสดงฐานะการเงิน

          2. Statement of profit or loss and other comprehensive income คำแปลภาษาไทย งบกำไรขาดทุน และกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น

          3. Statement of changes in equity คำแปลภาษาไทย งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ

          4. Statement of cash flows คำแปลภาษาไทย งบกระแสเงินสด

          5. Expense by nature คำแปลภาษาไทย ค่าใช้จ่ายตามลักษณะ

          ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันทั้งหมด จึงทำให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมชื่องบโดยตัดคำว่า แสดง ออก แต่อย่างไรก็ตามความหมายของงบการเงินทั้ง 2 ประโยคก็ยังคงมีความหมายเหมือนเดิม กล่าวคือ งบฐานะการเงิน เป็นงบที่ให้ข้อมูลฐานะการเงินของกิจการ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง 

          และงบการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ เป็นงบที่ให้ข้อมูลถึงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของสำหรับช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเช่นเดียวกัน ส่วนคำว่า Expense by Nature ได้เปลี่ยนจาก ค่าใช้จ่ายตามลักษณะ เป็น ค่าใช้จ่ายตามธรรมชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเปิดเผยรายการค่าใช้จ่ายดังกล่าว และเพื่อให้ตรงตามความหมายของศัพท์ภาษาอังกฤษมากขึ้น 

          อีกทั้งคำว่า ลักษณะ ในมาตรฐานการรายงานทางการเงินนั้นเป็นการแปลจากศัพท์ภาษาอังกฤษหลายคำ เช่น Characteristics และ Nature เป็นต้น จึงส่งผลให้อาจเกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องได้ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นการปรับปรุงแก้ไขคำนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับศัพท์ภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น 

          นอกจากนี้ในส่วนของมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (ปรับปรุง 2565) (TFRS for NPAEs) ยังไม่ได้มีการปรับปรุงถ้อยคำดังกล่าว โดยมาตรฐานยังคงเป็นคำเดิม คือ งบแสดงฐานะการเงิน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ และค่าใช้จ่ายตามลักษณะ เนื่องด้วยเป็นมาตรฐานที่ใช้กันในประเทศไทยเท่านั้น (ข้อมูลจากสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ )

          กล่าวโดยสรุป ดังนั้นในการจัดทำงบการเงินตาม TFRS for NPAEs หากกิจการเลือกใช้ตามคำที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ หรือยังคงเลือกใช้ตามคำเดิม ก็ถือว่าไม่ผิด เพราะถือว่างบการเงินดังกล่าว  จัดทำขึ้นตาม TFRS for NPAEs เพราะมีความหมายเหมือนกัน 

          โดยการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับปรับปรุง 2566 นั้น เป็นการปรับปรุงเพื่อให้มาตรฐานการรายงานทางการเงินมีความชัดเจนและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting