posttoday

'เอสเอ็มอี'รับได้หลังขยับขึ้นค่าแรง

27 มกราคม 2561

เอสเอ็มอีรับได้มาตรการภาครัฐทางการเงิน มาช่วยดูแลหลังขึ้นค่าแรง สสว.ชี้ขึ้นค่าแรงกระทบต้นทุนสินค้าน้อย 0.05%

เอสเอ็มอีรับได้มาตรการภาครัฐทางการเงิน มาช่วยดูแลหลังขึ้นค่าแรง สสว.ชี้ขึ้นค่าแรงกระทบต้นทุนสินค้าน้อย 0.05%

นายณพพงศ์  ธีระวร ประธานสมาพันธ์ เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการค่าจ้างได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 5-22 บาท และกระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้ กับลูกจ้างรายวันให้นำค่าใช้จ่ายจากค่าจ้างทั้งหมดมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.15 เท่า ถือว่ามาตรการของกระทรวงการคลังจะช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้นได้ ซึ่งจากการสอบถามผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กและรายย่อยนั้นต่างยอมรับกับค่าแรงที่สูงขึ้นดังกล่าวได้

ขณะเดียวกันนอกจากมาตรการภาษีแล้ว ภาครัฐยังมีมาตรการทางการเงินและไม่ใช้มาตรการทางการเงินจำนวนมากใน ปี 2561 จึงช่วยชดเชยผลกระทบจากค่าแรงที่สูงขึ้นได้

นายสุวรรณชัย  โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว.ได้วิเคราะห์ด้วยแบบจำลอง SME-CGE เพื่อศึกษาโครงสร้างต้นทุนค่าแรงจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต ภายหลังจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพบว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1% จะมีผลให้ต้นทุนค่าแรงงานเพิ่มขึ้น 0.16% ดังนั้นการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 3.4% จึงส่งผลให้ต้นทุนค่าแรงงานเพิ่มขึ้น 0.54% มีผลให้ต้นทุนสินค้าขยับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.05% ถือว่ามีผล กระทบต่อต้นทุนสินค้าไม่มาก โดยปัจจุบันต้นทุนค่าแรงงานเฉลี่ยของเอสเอ็มอีอยู่ที่ 12% ซึ่งภาคบริการมีต้นทุนค่าแรงงานสูงสุด 21.8% ภาคการผลิต 13.7% และภาคการค้า 9.6%

ขณะที่การสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 74 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แม้จะมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้นบ้าง แต่เนื่องจากเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเลยมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานน้อย