posttoday

บ่มเพาะนวัตกรรม พัฒนาเอสเอ็มอี

23 มกราคม 2561

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพของไทยยังมีรากฐานความรู้ที่ไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้การประสบความสำเร็จตามเป้าของรัฐบาลไม่เป็นไปดังเป้าหมาย

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

ต้องยอมรับว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพของไทยยังมีรากฐานความรู้ที่ไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้การประสบความสำเร็จตามเป้าของรัฐบาลไม่เป็นไปดังเป้าหมาย

กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยความรู้ไม่แน่นและต่างคนต่างทำธุรกิจตามความเข้าใจและแนวคิดของตนเองมาตลอด ทำให้ภาพรวมทาง รายได้ไม่เติบโตตามทิศทางที่ดีนัก หอการค้าไทยจึงมีกิจกรรมเพื่อสนับสนุนต่อเนื่อง โดยเน้นด้านความรู้เป็นหลัก

จากการคาดการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ที่มีการเติบโตเพียง 3.9% คาดว่าในปี 2561 ก็น่าจะโตไม่ต่างกันหรือดีกว่าปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.2% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมาก ส่วนใหญ่รายได้ ที่เข้าประเทศมาจากการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ทั้งนี้ การผลักดันให้เมืองรองได้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทัดเทียมกับหัวเมืองหลัก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเร่งให้คน รุ่นใหม่และประชากรในพื้นที่ได้มีโอกาสคิดและสร้างสรรค์รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทางหอการค้าไทยจะเร่งผลักดันใน 3 อุตสาหกรรม คือ เกษตรกรรมและอาหาร ท่องเที่ยวและบริการ และงานค้าขาย เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับภาพหลักของหอการค้าไทย

นอกจากนี้ ทางหอการค้าไทยยังมีโครงการตลอดทั้งปี โดยในปีที่แล้วมีโครงการบิ๊กบราเธอร์ ที่ให้ผู้บริหารธุรกิจยักษ์ใหญ่กว่า 14 บริษัท มาให้ความรู้และอบรมเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 170 บริษัท ที่มีผลประกอบการต่ำกว่า 50 ล้านบาท ให้มีความรู้และโอกาสหารายได้ใหม่ และในปีนี้จะทำต่อเนื่อง โดยเพิ่มพี่เลี้ยงเป็น 36 บริษัทใหญ่ และเอสเอ็มอีกว่า 300 บริษัท เพื่อเพิ่มการเติบโตของเอสเอ็มอีในประเทศอย่างรวดเร็ว

ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท 2 3 Perspective กล่าวว่า การทำธุรกิจเมื่อ 10 ปีก่อนไม่มีเรื่องดิจิทัล เจ้าของธุรกิจต้องมองเห็นโอกาสและการ แก้ปัญหาเอง ยิ่งในยุคที่เทรนด์เทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็ว การเชื่อมโยงธุรกิจเข้ากับดิจิทัลปรับใช้บิ๊กดาต้าเรียนรู้ ด้านแมชีนเลิร์นนิ่ง และสร้างโอกาสทางรายได้ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน ที่ครอบคลุม ซึ่งคนที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจได้ควรมีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา และช่วยเหลือสังคมมากกว่าหวังเรื่องรายได้

เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า การนำหลักสูตรจาก MIT มาปรับใช้ผ่านโครงการบ่มเพาะของ IDE นั้น จะช่วยสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จากการเป็นผู้ประกอบการแบบเดิม มาเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างเครือข่ายระบบนิเวศธุรกิจและนวัตกรรม หาเงินทุนสนับสนุน และพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้

นอกจากนี้ ยังหวังจะช่วยให้ธุรกิจรายย่อยสามารถเดินหน้าสร้างโอกาสใหม่ๆ และรายได้เข้าประเทศอย่างมั่นคง โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเป็น ปีแรกกว่า 1,000 ราย

การสร้างนักธุรกิจหน้าใหม่ผ่านโครงการของสถาบันการศึกษา นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เริ่มต้นจากฐานรากที่แท้จริง