posttoday

พลังงานทางเลือก 'BHD' สำหรับใช้ในรถยนต์

01 ธันวาคม 2560

นวัตกรรมเปลี่ยนโลก กับการสร้างงานวิจัย พลังงานทางเลือก ที่เรียกว่า น้ำมันดีเซล ชีวภาพสังเคราะห์ BHD (Bio Hydrogenated Diesel) ที่เป็นเชื้อเพลิง สามารถใช้ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลในปัจจุบันได้

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

นวัตกรรมเปลี่ยนโลก กับการสร้างงานวิจัย พลังงานทางเลือก ที่เรียกว่า น้ำมันดีเซล ชีวภาพสังเคราะห์ BHD (Bio Hydrogenated Diesel) ที่เป็นเชื้อเพลิง สามารถใช้ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลในปัจจุบันได้

"ศ.สุทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์" อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า งานวิจัยเรื่อง "การประยุกต์ใช้ฐานเทคโนโลยีสำหรับการเลือกและพัฒนากระบวนการและต้นแบบที่เป็นนวัตกรรม สำหรับการผลิตอย่างยั่งยืนของเชื้อเพลิงทางเลือก บนฐานของไบโอรีไฟเนอรี" ที่ได้พัฒนางานวิจัยด้านพลังงานทางเลือก จากการเห็นวิกฤตพลังงานทั่วโลก และความต้องการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น จึงมุ่งสร้างงานวิจัยสู่ BHD

ทั้งนี้ จากปัญหาเรื่องพลังงาน ทำให้พบว่าประเทศไทยมีการใช้น้ำมันจากการปรุงอาหาร (Waste cooking oil) ในจำนวน 100 ล้านลิตร/ปี โดยได้พัฒนางานวิจัยที่นำน้ำมันจากการปรุงอาหาร มาสร้างกระบวนการผลิตสู่ไบโอดีเซล จึงสามารถนำไปขยายสู่การผลิตในชุมชนต่างๆ

การผลิตไบโอดีเซลจะเป็นแบบต้นทุนต่ำ ที่ช่วยลดมลภาวะ โดยเน้นการนำน้ำมันปรุงอาหารที่ผ่านการใช้แล้วจากชุมชน และกลุ่มโอท็อป จึงสามารถนำไปทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลภายในชุมชน สำหรับเครื่องจักรกลทางการเกษตร และการขนส่งวัตถุดิบ รวมถึงสามารถนำไปขยายสู่ชุมชนต่างๆ ในประเทศได้

ต่อมาที่ได้พัฒนางานวิจัย ไปสู่การสร้างพลังงานทางเลือกที่เรียกว่า น้ำมันดีเซล ชีวภาพสังเคราะห์ หรือ BHD (Bio Hydrogenated Diesel) โดยสามารถเรียกได้ว่าเป็น กรีน ดีเซล (Green Diesel) ที่สามารถนำไปใช้กับรถยนต์ได้จริง และมีคุณภาพสูงกว่า น้ำมันไบโอดีเซล

ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการทำต้นแบบของทั้งไบโอดีเซล และน้ำมันดีเซล ชีวภาพสังเคราะห์ คาดว่าจะเห็นได้ชัดเจนภายใน 5 ปีนับจากนี้ ส่วนแผนระยะยาวจะพัฒนาสู่การนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสารเคมี หรือเคมีภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงต่อไป

อีกทั้งมีภาคเอกชนที่สนใจนำงานวิจัยนี้ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม หลายราย โดยการมุ่งสร้างพลังงานทางเลือก จะเป็นแนวทางสำคัญของประเทศไทย และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งในต่างประเทศ เช่น ประเทศฟินแลนด์ ได้มีการใช้ BHD อย่างเป็นทางการแล้ว

จากงานวิจัยดังกล่าว มีผลทำให้ "ศ.สุทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์" อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุน NSTDA Chair Professor เพื่อสร้างศาสตราจารย์เป็นผู้นำกลุ่ม โดยเป็นทุนที่จัดตั้งโดยมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 20 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี

"ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล" ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า งานวิจัย ดังกล่าวมีประโยชน์ต่อประเทศ เศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก รวมถึงการผลักดันเรื่องพลังงานทางเลือกที่มีฐานมาจากไบโอ และต่อเนื่องไปสู่ไบโอชีวเคมี ที่จะต่อยอดไปได้ทั้งสารประกอบตั้งต้นใช้ได้ทั้งในการผลิตเส้นใย การผลิตพลาสติก รวมถึงวัตถุดิบทางด้านยา และเครื่องสำอาง ซึ่งมีมูลค่าสูง รวมถึงการพัฒนาสู่พลังงานทางเลือกดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากจากการมีวัตถุดิบด้านไบโอจำนวนมาก

ศ.สุทธิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า การ วิจัยครั้งนี้ได้มุ่งหวังที่จะร่วมสร้าง พลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป