posttoday

10 เรื่องควรรู้ ก่อนเข้าตลาด CLMV

07 เมษายน 2560

ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี)

โดย...DJ [email protected]

ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) นับเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจของนักลงทุนธุรกิจ เจ้าของสินค้าทั้งรายใหญ่ รายเล็กจากนานาชาติ ซึ่งรวมถึงกลุ่มนักธุรกิจจากไทยด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะในช่วงครบรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 2559 ถึงปัจจุบันที่พบว่ามีการเสียภาษีสินค้านำเข้าหลายรายการในกลุ่มประเทศสมาชิกมีอัตราเป็น 0% แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นผลบวกต่อการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียนจากปัจจัยดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยลบแฝงเข้ามาอยู่บ้าง โดยเฉพาะอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี หรือเอ็นทีบี (Non-Tariff Barriers : NTB) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าส่งออก

ขณะที่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลน่าสนใจว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยนั้นมีเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยด้วยซ้ำ อันเนื่องจากบริบทการค้าโลกเปลี่ยนไป

และในอนาคตอาเซียนและซีแอลเอ็มวีจะเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลกที่ไทยมองข้ามไม่ได้

อย่างไรก็ตาม มี 10 เรื่องที่นักลงทุนหรือกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจไทยต้องรู้ก่อนเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในตลาดซีแอลเอ็มวี ดังนี้

1.สินค้าไทยคือของดีในสายตาเพื่อนบ้าน

2.มีโครงสร้างที่มองไม่เห็น เช่น กฎระเบียบที่อาจไม่รู้จักมาก่อน ใช้ดุลพินิจในการตีความ

3.แอกทิวิตี้ มาร์เก็ตติ้ง ด้วยในบางประเทศ อย่าง เมียนมา ไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุม การตลาดจึงจำเป็นต้องทำแบบบีโลว์ เดอะไลน์ (Below the line) การทำตลาดไม่ผ่านสื่อ

4.งานบริการในซีแอลเอ็มวียังไม่แข็งแรงทำให้ไทยได้เปรียบ

5.ตลาดเงินและตลาดทุนของซีแอลเอ็มวีเพิ่งเริ่มต้น

6.มองฐานการผลิตเป็นหลัก เพราะการเข้าไปลงทุนตั้งร้านค้าทำยาก เพราะค่าเช่าที่ดินแพง

7.การแข่งขันด้านราคา (ต้นทุนการผลิต-ค่าแรงถูกกว่า)

8.กำลังซื้อไม่ได้น้อยอย่างที่คิด เพราะมีกลุ่มคนที่รวยมาก และยังเชื่อไปตลาดจีน-อินเดียได้

9.ข้อมูลที่มีกับสิ่งที่เจออาจต่างกัน ดังนั้นต้องเข้าไปศึกษาและลองทำตลาด 1-3 เดือนก่อน

10.ไทยต้องพึ่งซีแอลเอ็มวีเป็นตลาดสำคัญ เพราะมีการเติบโตสูงกว่าไทย และเป็นคู่ค้าสำคัญในการทดแทนตลาดส่งออกหลักเดิมอย่างยุโรป ทำให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลนี้จึงมุ่งให้ความสำคัญกับซีแอลเอ็มวีทีมากขึ้น

จากข้อมูลเบื้องต้นอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการธุรกิจไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ยังมีกำลังน้อย ให้สามารถมองตลาดที่สนใจเข้าไปได้ดีขึ้น ด้วยในแต่ละตลาดประเทศซีแอลเอ็มวีย่อมมีความแตกต่างกัน ทั้งรสนิยมการบริโภค ไปจนถึงวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่มีผลต่อการเข้าไปยังตลาดกลุ่มนี้ ซึ่งหากสามารถเจาะทางเข้าได้ถูกจุด

ก็ย่อมส่งผลดีต่อยอดขายของเจ้าของธุรกิจสินค้า/บริการ อย่างแน่นอน