posttoday

"วิกฤตแรงงาน" คนเก่าไป คนใหม่เลือกงาน

05 กุมภาพันธ์ 2561

คนรุ่นใหม่มองว่าการก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงกับการไปทำสตาร์ทอัพ อาจได้ผลตอบแทนเท่าๆ กัน จึงเลือกไปเป็นสตาร์ทอัพมากกว่า

คนรุ่นใหม่มองว่าการก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงกับการไปทำสตาร์ทอัพ อาจได้ผลตอบแทนเท่าๆ กัน จึงเลือกไปเป็นสตาร์ทอัพมากกว่า

ท่ามกลางกระแสยุคดิจิทัล โลกยุคใหม่ที่ต้องการการบริการที่ไม่ซับซ้อนและรวดเร็ว ได้ส่งผลกระทบแรงงานภาคการเงินรวมถึงส่งผลกระทบไปยังภาคอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนอย่างมากในปีนี้

กฤษณ์ จิตต์แจ้ง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารเน้นจัดการบุคลากรโดยการรับคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เช่น แมชีนเลิร์นนิ่ง เพื่อพัฒนาระบบใหม่ๆ ภายใต้บริษัท กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (เคบีทีจี) ส่วนฝั่งธนาคารยังเติมคนอยู่ ในด้านการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและการบริหารความเสี่ยง

สำหรับโจทย์ด้านผู้นำมีความท้าทาย เพราะผู้นำต้องดูแลพนักงานจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เจนวาย เจนแซด ที่มีบุคลิกเฉพาะตัว โดยธนาคารได้มีโปรแกรมสร้างผู้นำมาระยะหนึ่งแล้ว โดยต้องการผู้นำรุ่นใหม่ที่ลงไปลุยงานกับพนักงาน ไม่ใช่ผู้นำที่สั่งซ้ายสั่งขวา แต่เป็นคนที่ต้องเดินไปด้วยกันกับพนักงาน

ขณะที่เรื่องการเกษียณอายุงานเมื่ออายุครบ 60 ปี ไม่มีการต่ออายุ เพื่อเปิดโอกาสให้คนข้างล่างก้าวขึ้นมาทำหน้าที่แทน สร้างแรงดึงดูดให้พนักงานเห็นถึงความก้าวหน้าและสามารถเติบโตในองค์กรได้

ด้านรายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงรายงานเรื่องศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ : ไทยอยู่ไหนและจะสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 อย่างไร ระบุว่า สิ่งที่ไทยต้องเร่งทำคือ ปฏิรูประบบการศึกษา บริษัทต้องลงทุนยกระดับฝีมือแรงงาน ลูกจ้างต้องพัฒนาตัวเองพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ เทคโนโลยีมาเปลี่ยนในหลายเรื่อง เช่น กระบวนการผลิตที่ใช้หุ่นยนต์และระบบจักรกลอัตโนมัติแทนการพึ่งพาแรงงาน ทำให้เกิดการย้ายฐานผลิตกลับสู่ประเทศตัวเอง แรงงานบางสาขาอาชีพอาจไม่มีอีกต่อไป โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้

สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า แรงงานจบใหม่ ระดับปริญญาตรีตกปีละ 3-4 แสนคน จำนวนนี้ว่างงานสูงถึง 50% ส่วนภาคอาชีวศึกษาเฉลี่ยปีละ 1 แสนคน ซึ่ง 2 ใน 3 จะเรียนต่อระดับปริญญาตรี เพื่อต้องการฐานเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท นับเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อภาวะการว่างงานในไทยที่สำคัญ จากการเลือกงานของคนรุ่นใหม่ รวมถึงการเลือกประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น

ส่วนการปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล จะมีอาชีพเกิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ บล็อกเกอร์ วล็อกเกอร์ ใช้วิดีโอในการสื่อเรื่องราว งานบริการลูกค้า อี-คอมเมิร์ซ อี-เซอร์วิส ยูทูบเบอร์ แรงงานทักษะ เป็นต้น

พิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย กล่าวว่า การสรรหาผู้บริหารระดับสูงยากขึ้น เกิดจากตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมีความกดดันมาก ซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่ชอบ เพราะชอบการทำงานที่มีความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและทำงาน และมองว่าการก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงกับการไปทำสตาร์ทอัพ อาจได้ผลตอบแทนเท่าๆ กัน จึงเลือกไปเป็นสตาร์ทอัพมากกว่า

จีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยขาดแคลนบุคลากรทุกระดับ และยิ่งผู้นำจะหนักกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะเป็นธุรกิจเฉพาะต้องใช้คนที่มีความรู้ ความสามารถด้านประกันภัยโดยเฉพาะ ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆ สามารถดึงตัวผู้บริหารข้ามธุรกิจได้ จึงทำให้ต้องพัฒนาคนในวงการโดยเฉพาะผู้บริหารระดับกลางให้ขึ้นมาเป็นผู้นำแทน  โดยมีการตั้งสถาบันประกันภัย เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านนี้