posttoday

ค่ายอาหารปรับ ขยายออนไลน์

10 กรกฎาคม 2560

ธุรกิจอาหารต้องหันมาพัฒนาระบบไอทีภายในองค์กร เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค

โดย...จะเรียม สำรวจ

จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปเสพสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียจนทำให้ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการทุกธุรกิจต้องปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และธุรกิจอาหารก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น เพราะหากไม่ปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบกับผลประกอบการของธุรกิจได้

ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารจึงต้องหันมาพัฒนาระบบไอทีภายในองค์กร เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ขณะเดียวกันยังถือเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ตามที่รัฐบาลประกาศจะเดินหน้าประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0

ทวี ปิยะพัฒนา ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี. กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้ บริษัทจะให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เริ่มจากนำเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการผลิตสินค้าทั้งในส่วนของแบรนด์ที่รับจ้างผลิตและแบรนด์สินค้าของ พี.เอฟ.พี. เพื่อให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น และไว้วางใจในยี่ห้อหรือแบรนด์สินค้า

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้บริษัทต้องหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมต่างๆ โดนผลกระทบจากการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซ ประกอบกับปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไป คือ ให้ความสนใจสื่อออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้บริษัทต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจ ด้วยการมุ่งสู่ธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นธุรกิจอาจชะลอตัวเหมือนกับหลายอุตสาหกรรมที่ต้องปิดตัวไป เพราะไม่ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์

ทวี กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่บริษัทต้องทำในตอนนี้ คือ การปรับปรุงเครื่องจักรให้เป็น 4.0 ก่อน เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 4.0 ซึ่งจะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ โดยในส่วนของบริษัทเองก็ได้เริ่มมีการปรับตัวแล้วไม่ว่าจะเป็นในด้านของโรงงานที่มีการนำเครื่องจักรใหม่ๆ เข้ามาผลิตสินค้าหรือการทำตลาด ที่เริ่มใช้สื่อออนไลน์เข้ามาช่วยในการทำกิจกรรมการตลาดและจำหน่ายสินค้า

เช่นเดียวกับ สุรพล ว่องวัฒนโรจน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สุรพลฟู้ดส์ ที่ออกมาเปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้จะให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์มากขึ้น เพื่อตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปให้ทัน ด้วยการหันมาทำการตลาดและขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยปัจจุบัน บริษัท สุรพลฟู้ดส์ มีช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารกับผู้บริโภคด้วยกัน 3 ช่องทางหลัก คือ Line : @suraponfoods, Face book : suraponfoods และโทร. 06-1985-1111 ซึ่งหลังจากเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ สุรพล บอกว่า ได้ผลการตอบรับจากลูกค้าเป็นที่น่าพอใจ

ขณะที่ นูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ ผู้ก่อตั้งบลู เอเลเฟ่นท์ กรุ๊ป กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจในเครือบลูเอเลเฟ่นท์ ก็ให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวบริษัทจึงได้เริ่มมีการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2559 ด้วยการนำสินค้าประเภทเครื่องปรุงเข้าไปจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ของพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น 24 ช็อปปิ้ง และลาซาด้า เป็นต้น

สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าของบลู เอเลเฟ่นท์ผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าคนไทย โดยปัจจุบันมีสินค้าให้ลูกค้าได้เลือกซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ประมาณ 75 รายการ และมีแผนที่จะเพิ่มรายการสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า ซึ่งในส่วนของสิ้นปี 2560 นี้คาดว่าจะมียอดขายผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตไม่ต่ำกว่า 8-10%

ด้าน ณัฐพล วิสุทธิไกรสีห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียติค อุตสาหกรรมเกษตร ผู้ผลิต แปรรูป และส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวแบรนด์โคโค่แม็ก และกะทิอัมพวา กล่าวว่า บริษัทได้มีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น “กะทิอัมพวา ครัวในขวด” รายแรกของประเทศไทย ด้วยการนำเสนอเมนูอาหารผ่านเทคโนโลยี บนขวดผลิตภัณฑ์กะทิอัมพวา กะทิแท้ 100% เพื่อจุดประกายไอเดียทำอาหารผ่านการสแกน AR บนขวดกะทิ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่ชอบการทำอาหาร โดยเบื้องต้นจะมีเมนูอาหาร 4 เมนู จากเมนูที่มีกว่า 10 เมนูให้บริการ และจะเปลี่ยนเมนูใหม่เดือนละ 2 ครั้ง

การออกมาปรับกลยุทธ์สู่ออนไลน์มากขึ้นของผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารครั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยขยายช่องทางการจำหน่ายให้เพิ่มสูงขึ้นได้อีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น