posttoday

ลาเต้อาร์ต เริ่มมาจากไหน เมื่อไหร่ และทำไมถึงได้ฮิต

19 พฤษภาคม 2560

กาแฟน่าจะเป็นเครื่องดื่มประเภทเดียวในโลกที่มีการตกแต่งหน้าตาเหมือนกับหน้าเค้กและคนเราก็ให้ความสำคัญกับการตกแต่ง

โดย...เอกศาสตร์ สรรพช่าง ภาพ อีพีเอ

กาแฟน่าจะเป็นเครื่องดื่มประเภทเดียวในโลกที่มีการตกแต่งหน้าตาเหมือนกับหน้าเค้กและคนเราก็ให้ความสำคัญกับการตกแต่งถึงขนาดที่ว่าบรรจุการตกแต่งหน้าโฟมนมให้เป็นหนึ่งในการแข่งขันวัดความเก่งกาจของบาริสต้าเลยทีเดียว

คุณอาจคิดว่าการแต่งหน้าฟองนม หรือที่เรียกกันติดปากว่า ลาเต้อาร์ต (Latte Art) เป็นเรื่องที่เกิดมานานเป็นร้อยๆ ปีแล้ว แต่ที่จริงแล้วเปล่าเลยครับ อายุอานามของนวัตกรรมการแต่งฟองนมเพิ่งจะมาบูมกันเมื่อประมาณทศวรรษที่ 1980-1990 นี่เอง

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ลาเต้อาร์ตเพิ่งจะมาได้รับความนิยมต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญอย่างมากสองส่วนที่เป็นพื้นฐานเลยก็คือเครื่องชงเอสเปรสโซ่ที่ดีและคุณภาพของฟองนมที่ตีจนแตกฟองสวย เนื้อละเอียด (หรือที่เราเรียกกันว่าไมโครโฟม-microfoam) แล้วถึงจะตามมาด้วยฝีมือของบาริสต้าเป็นลำดับถัดไป พัฒนาการของทุกส่วนมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งเงื่อนไขนี้เองที่ทำให้ในอดีตมาการแต่งหน้าฟองนอมบนคาปูชิโน่ หรือลาเต้ ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะความคมชัดของรูปที่ออกมาไม่ได้ดีมากพอ เพราะองค์ประกอบอย่างที่ผมว่าไป เข้าใจว่าก่อนหน้านั้นในอิตาลีก็มีความพยายามอยู่นะครับ แต่อย่างที่บอกว่าจะมานั่งตีฟองนมด้วยมือ ความสม่ำเสมอ ความแน่นอนของฟองนมที่ได้ไม่มีทางที่จะออกมาสม่ำเสมอเท่ากันหมด

จุดแรกเริ่มต้นของลาเต้อาร์ตเกิดขึ้นที่ซีแอตเทิล เมืองของสตาร์บัคส์และไมโครซอฟท์ แต่สตาร์บัคส์ไม่ได้มีเอี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เป็นร้านกาแฟที่ชื่อ Espresso Vivace ของ เดวิด โชเมอร์ (David Schomer) ประวัติของคุณเดวิดคนนี้ก็น่าสนใจ ตามที่หนังสือพิมพ์ Seattletims เคยสัมภาษณ์เขาไว้ คือเรียนจบมาทางด้านมานุษยวิทยาและดนตรีคลาสสิก ซึ่งเดวิดหมายมั่นปั้นมือว่าเขาอยากเป็นนักเป่าฟลุตมืออาชีพ แต่ท้ายสุดเขาเข้าไปทำงานในกองทัพอากาศในหมวดการซ่อมครื่องบินและมีโอกาสได้ทำงานกับบริษัทโบอิ้ง จนกระทั่งเกษียณอายุจากการเป็นทหารอากาศเมื่ออายุได้ 50 ปี จึงเริ่มมองหางานอื่นและมาลงเอยที่การเปิดซุ้มกาแฟเคลื่อนที่อยู่ในย่าน Capital Hill ในปี 1988

เดวิดไม่ได้มีความสนใจเรื่องกาแฟเลย เขาขายกาแฟอยู่เป็นปีแต่ไม่มีกำไร แต่การขายกาแฟอยู่เป็นปีทำให้เขาเริ่มรักและเห็นความเป็นไปได้ที่จะขยายธุรกิจกาแฟของเขาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น การสร้างความแตกต่างของเดวิดก็คือใช้ความสนใจเรื่องศิลปะของเขา ผนวกกับความคลั่งไคล้ในเครื่องยนต์กลไก เดวิดเคยพูดไว้ว่า “กาแฟเริ่มกลายเป็นงานศิลปะของผมและเริ่มหลงใหลมัน” นั่นทำให้เขาเริ่มทดลองวิธีการต่างๆ ที่จะทำกับกาแฟของเขาและเปลี่ยนจากการเสิร์ฟกาแฟธรรมดา เป็นการทดลองหลายๆ อย่างเพื่อเสิร์ฟกาแฟที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า เขาเริ่มทดลองและเขียนผลที่ได้จากการทดลองของเขาลงในวารสารผู้ค้ากาแฟบ้าง ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือบ้าง

งานทดลองของเขาที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและถูกพูดถึงมากที่สุดก็คืองานทดลองเกี่ยวกับเรื่องของการรักษาอุณหภูมิของน้ำร้อนให้คงที่ไประยะเวลาหนึ่งจะช่วยเพิ่มรสชาติความหวานให้กับเอสเปรสโซ่ได้ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาเครื่องชงเอสเปรสโซ่และการเสิร์ฟ การทุ่มเทของเดวิดทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงของธุรกิจกาแฟในซีแอตเทิล ปัจจุบันเขาเปิดโรงเรียนสอนบาริสต้าและร้านกาแฟของเขา Espresso  Vivace ได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งในเอสเปรสโซ่บาร์ที่ดีที่สุดของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย และ เดวิด โชเมอร์ ก็ถูกพูดถึงว่าเป็นหนึ่งผู้ที่คิดค้นเรื่องลาเต้อาร์ตให้เป็นที่นิยมและรู้จักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1990 โดยเฉพาะรูปหัวใจ ซึ่งต่อมากลายเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกพูดถึงว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเดวิดและในปี 2011 มีการเปิดการแข่งขัน World Latte Art Championship ครั้งแรกขึ้นที่ประเทศไทยนี่เองครับ

ลาเต้อาร์ตทำได้อยู่สองวิธีหลักๆ อย่างแรกเรียกว่า Free Pouring คือราดฟองนมลงไปบนเอสเปรสโซ่ แล้วใช้ความเชี่ยวชาญของบาริสต้าในการสร้างรูปร่างด้วยวิธีการกำหนดน้ำหนักและทิศทางของฟองนมให้เลื่อนไหลไป โดยมากแล้ววิธีนี้จะทำให้ได้รูปที่เป็นหัวใจ หรือ ใบเฟิร์น อีกวิธีคือการ Etching คือการใช้เครื่องมือที่คล้ายๆ กับไม้จิ้มฟันในการเขี่ยทำให้เกิดรูปร่างต่างๆ เช่นว่ารูปสมมาตรต่างๆ รูปร่างหน้าสัตว์น่ารักๆ หลายๆ แบบ

แต่เทคโนโลยีไปไกลขึ้นทุกวันแล้ว เดี๋ยวเรามีเครื่องแต่งหน้าโฟม Coffee Ripple ซึ่งสามารถทำเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ โดยสามารถลิงค์กับสมาร์ทโฟนและสร้างรูปได้จากรูปถ่ายในโทรศัพท์มือถือได้เลยทีเดียว

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้ามีใครเสิร์ฟกาแฟแบบนี้จริงๆ ผมจะกล้าดื่มไหม