posttoday

เคาะรถไฟสายสีน้ำตาล เสนอ'บิ๊กตู่'พิจารณามี.ค.นี้

24 มกราคม 2561

คมนาคมรอเสนอ คจร.อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสาย สีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี มี.ค.นี้ หลังเคาะเลือกระบบรถไฟฟ้าควบคู่ทางด่วน

คมนาคมรอเสนอ คจร.อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสาย สีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี มี.ค.นี้ หลังเคาะเลือกระบบรถไฟฟ้าควบคู่ทางด่วน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมแนวทางการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ภายในเดือน มี.ค.นี้ ภายหลังได้ประชุมคณะกรรมการร่วมกันหลายภาคส่วนรวมทั้งสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยที่ประชุมเห็นชอบแนวทางเลือกที่ 4 พัฒนาด้วยระบบรถไฟฟ้า และระบบทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน

ทั้งนี้ เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน ที่ส่วนใหญ่ต้องการให้สร้างทั้งสองแบบ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรตามแนวถนนเกษตร-นวมินทร์ และเชื่อมต่อการเดินทาง ระหว่างทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ของกรุงเทพมหานครและการเชื่อมต่อทางด่วนศรีรัช-โทลล์เวย์-ฉลองรัช เข้าด้วยกันอีกด้วย

สำหรับรูปแบบการก่อสร้างเพื่อเลี่ยงจุดบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นมี 2 แนวทาง ได้แก่ 1.การก่อสร้างอุโมงค์ให้รถยนต์วิ่งลอดใต้ดินแล้วรถไฟฟ้าและทางด่วนก่อสร้างบนดิน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและทำได้ยาก

2.ก่อสร้างรถไฟฟ้าและทางด่วน อ้อมหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อไปเชื่อมกับโครงการทางเชื่อมโครงข่ายทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษ ศรีรัช-วงแหวนรอบนอก โดยก่อสร้างจากแนวถนนเกษตร-นวมินทร์เลี้ยวผ่านมาตามถนนพหลโยธินแล้วเลี้ยวบริเวณแยกบางบัว เพื่อไปทะลุฝั่งถนนวิภาวดีรังสิต

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมเห็นควรว่าให้เลือกการก่อสร้างรูปแบบที่ 2 เพราะมีความเป็นไปได้และไม่มีการต่อต้านจาก ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงง่ายต่อการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพราะเป็นพื้นที่ของรัฐบาล อาทิ การเคหะแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่ง แนวเส้นทางที่เป็นพื้นที่ กทม. เพื่อความ สะดวกในการใช้สอยพื้นที่ แต่อาจทำให้ระยะทางการก่อสร้างเพิ่มจากเดิม 2-3 กิโลเมตร (กม.) เป็น 6-7 กม. โดยหลังนี้จะส่งรายละเอียดโครงการให้การทาง พิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปออกแบบรายละเอียดก่อสร้างตามแนวทางที่ 2

สำหรับรูปแบบการลงทุนนั้นหลังจาก คจร.เห็นชอบแผนศึกษาแล้วจะส่งต่อให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปดำเนินการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ เพื่อเปิดให้เอกชนร่วมทุนพีพีพี 100% ต่อไปตามเป้าหมายของรัฐบาล ในเบื้องต้นกระทรวงคมนาคมมองว่าโครงการดังกล่าวมีความคุ้มค่าอย่างมากทั้งด้านรายได้และปริมาณ ผู้โดยสาร หากเปรียบเทียบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว- สำโรง และรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วง แคราย-มีนบุรี เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 6 สาย

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า หลังเปิดใช้งานเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางถาวรบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ช่วงชลบุรีพัทยา ระยะทางประมาณ 42 กม. เพื่อให้เส้นทางช่วงนี้มีการควบคุมทางเข้า-ออก แบบสมบูรณ์ พบว่า มีข้อร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่เรื่องปัญหาจราจรรวมถึงความแออัดในบางจุด กรมทางหลวง จึงเตรียมพิจารณาแนวทางการลงทุนก่อสร้างด่านเก็บเงินเพิ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะเสนอไปยังกรมบัญชี กลางเพื่อของบประมาณศึกษาแนวทางการก่อสร้างด่านเก็บเงินใหม่บริเวณจุดเข้าออกศรีราชา คาดใช้เวลา 1 ปี มีวงเงินลงทุนมากกว่า 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าลงทุนงานก่อสร้างและงานระบบรวมถึงค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

 ภาพประกอบข่าว