posttoday

ถกผู้ผลิตตรึงราคาสินค้า24ม.ค.

20 มกราคม 2561

พาณิชย์เรียกผู้ผลิตสินค้ากว่า 100 รายการถกตรึงสินค้า 24 ม.ค.นี้ หลังค่าแรงกระทบต้นทุนไม่มาก

พาณิชย์เรียกผู้ผลิตสินค้ากว่า 100 รายการถกตรึงสินค้า 24 ม.ค.นี้ หลังค่าแรงกระทบต้นทุนไม่มาก

นายบุณยฤทธิ์  กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 ม.ค. 2561 กรมจะเชิญผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่และเอสเอ็มอีกว่า 100 ราย ร่วมหารือกับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เพื่อหารือเกี่ยวกับผล กระทบต้นทุนราคาสินค้าจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-22 บาท/วัน เบื้องต้นพบว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อต้นทุนสินค้าน้อย จึงไม่มีความจำเป็นในการขึ้นราคาสินค้า แต่หากสินค้าประเภทใดมีผลกระทบมากก็สามารถเสนอต้นทุนมาให้กรมพิจารณาได้

"ขอย้ำว่าระหว่างนี้ห้ามผู้ประกอบการรายใดฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า ด้วยการอ้างผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำ เพราะอัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่มีผลวันที่ 1 เม.ย. 2561" นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

สำหรับกรณีที่มีการแชร์ในโลก โซเชียลว่า มีแม่ค้าย่านประตูน้ำจำหน่ายข้าวผัดกะเพราจานละ 150 บาทนั้น ขณะนี้ได้ทำหนังสือสั่งให้เจ้าของร้านมาชี้แจงต้นทุนภายใน 7-15 วัน เพื่อเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริง หากพบว่าจงใจจำหน่ายราคาสินค้าไม่ตรงกับป้ายแสดงราคา มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1 หมื่นบาท รวมถึงโทษจำหน่ายสินค้าเกินราคามีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"ที่ผ่านมาได้สั่งการให้สายตรวจกรมการค้าภายในลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการสั่งซื้ออาหารที่มีการร้องเรียน พบว่าจำหน่ายในราคา 80 บาท ซึ่งตรงกับที่มีการปิดป้ายแสดงราคาไว้ที่หน้าร้าน ไม่พบกระทำผิดซึ่งหน้า แต่อย่างจากมีการร้องเรียนปัญหานี้เข้ามาพร้อมกับมีข้อมูลประกอบชัดเจน จึงจำเป็นต้องให้ทางร้านชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป" นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า ประเด็นการขายของแพงมีการร้องเรียนเข้ามาต่อเนื่อง แต่เรื่องการกำหนดราคา 2 ราคา ระหว่างราคาคนไทยและต่างชาติ ยังไม่เคยมีการร้องเรียนเข้ามา ซึ่งยอมรับว่าไม่มีกฎหมายของกรมการค้าภายในที่จะกำหนดให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าหรือบริการในราคาเดียวกันหมดทั้งของคนไทยและต่างชาติ จึงอยากขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการให้คำนึงถึง ชื่อเสียงของประเทศ เพราะกรณีนี้ถือว่ากระทบต่อชื่อเสียงของประเทศ

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 พบว่าเฉลี่ยปรับขึ้น 3.4% หรือทำให้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 305.44 บาท เป็น 315.90 บาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.50 บาท มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำสุด 0.0008% และสูงสุดอยู่ที่ 0.1% หรือมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.05% ถือว่ามีผล กระทบต่อต้นทุนไม่มาก และกระทบต่อต้นทุนการส่งออกเพิ่มขึ้น 0.022% หรือมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 167 ล้านบาท/ปี ส่วนผลกระทบเงินเฟ้อนั้น คาดว่าค่าแรงที่ปรับขึ้นมีผลกระทบทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.08% และทำให้กรอบคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2561 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดิม 0.6-1.6% เพิ่มเป็น 0.7-1.7%