posttoday

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคธ.ค.ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 5

04 มกราคม 2561

ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.2560 อยู่ที่ 79.2 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่5 และสูงสุดรอบ 35 เดือน สะท้อนสัญญาณเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว คาดจีดีพีปี2561 มีโอกาสแตะ 5%

ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.2560 อยู่ที่ 79.2 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่5 และสูงสุดรอบ 35 เดือน สะท้อนสัญญาณเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว คาดจีดีพีปี2561 มีโอกาสแตะ 5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.2560 ว่า อยู่ที่ 79.2 ขยับขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 78.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และสูงสุดในรอบ 35 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 90.2 สูงสุดในรอบ 55 เดือน โดยมีปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ขยายตัว การท่องเที่ยวที่ดี มาตรการกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับขึ้น และข่าวการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือนธ.ค.2560 อยู่ที่ 66.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 74.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 97.5 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เช่นเดียวกัน

“จากปัจจัยบวกเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ดี ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีเม็ดเงินอยู่ในมือชนชั้นกลาง ส่งให้เกิดความเชื่อมั่นและกล้าที่จะจับจ่ายมากขึ้น แต่ในระดับฐานรากยังเจอปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำอยู่ โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงทำให้เศรษฐกิจในภาคเหนือ อีสานและใต้ยังฟื้นตัวไม่โดดเด่น แต่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวเด่นขึ้นในช่วงปลายไตรมาส2/2561 หรือประมาณปลายเดือนมิ.ย.-ก.ค.” นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ การที่การส่งออกของไทยขยายตัว การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น และคาดว่าในปี 2561 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทยมากถึง 37-37.5 ล้านคน ดัชนีในตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้น กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนดีขึ้น จึงทำให้มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น จนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าทั้งปีนี้จะผันผวนอยู่ในกรอบ 32.5-33.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

“เศรษฐกิจในตลาดหลักทั้งจีน อินเดีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มดีขึ้น บวกกับราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ประเทศในตะวันออกกลางมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เห็นค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ในกรอบ 32.5-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐได้ แต่มองว่ายังไม่เป็นตัวเลขที่จะมาบั่นทอนการส่งออกของไทยในปีนี้ แต่อาจทำให้ผู้ส่งออกมีภาวะแข่งขันยากขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องเข้ามาดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าเพื่อนบ้านมากนัก โดยควรจะดูแลให้ค่าเงินบาทอยู่ในกรอบ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ในปี 2561 คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาหมุนในระบบเศรษฐกิจรวมประมาณ 5-7 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีผลต่อจีดีพีไทยประมาณ 2-3% โดยมจากรายได้จากการส่งออกที่คาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้น 1-2 แสนล้านบาท รายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจฐานรากทั้งมาตรการบัตรสวัสดิการคนจนเฟส1-2 และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นรวมประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท เงินลงทุนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีก 1-1.5 แสนล้านบาท และเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 2-3 แสนล้านบาท และเงินลงทุนภาคเอกชนที่จะตามมาอีก 5 หมื่น-1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี หอการค้าไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ 4% ครึ่งปีแรกขยายตัว 4.5% และครึ่งปีหลังอยู่ที่ 4.2% ส่งผลให้ทั้งปีนี้ขยายตัวอยู่ในกรอบ 4.2-4.5% และมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะขยายตัวอยู่ที่ 5% หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวโตขึ้น เงินอัดฉีดจากภาครัฐลงสู่ระบบเร็ว ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น และมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในปีนี้และสามารถดึงความเชื่อมั่นกลับมาได้ ส่วนการส่งออกขยายตัวอยู่ที่ 5% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.5% อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ 32.5-33.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันเฉลี่ย 60-65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล