posttoday

เล็งกู้เงินไทยซื้อระบบไฮสปีด

23 ธันวาคม 2560

คมนาคมคาดกู้เงินในประเทศจัดซื้อระบบไฮสปีด 5.4 หมื่นล้าน ดันโอท็อปขึ้นรถไฟสร้างรายได้ท้องถิ่น

คมนาคมคาดกู้เงินในประเทศจัดซื้อระบบไฮสปีด 5.4 หมื่นล้าน ดันโอท็อปขึ้นรถไฟสร้างรายได้ท้องถิ่น

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แนวทางหาเงินทุนเพื่อดำเนินโครงการจัดซื้องานระบบรถไฟไทย-จีนสัญญาที่ 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาทนั้น มีโอกาสที่จะใช้เงินกู้ในประเทศเนื่องจากเป็นวงเงินที่ไม่มาก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเงินบาทขณะนี้อยู่ในระดับที่ต่ำมากและดีกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจีนและธนาคารโลก ทั้งนี้ต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน เม.ย. 2561

สำหรับการจัดซื้อรถไฟนั้นจะนำเข้ามาทั้งหมด 12 ขบวน ขบวนละ 8 ตู้ รองรับ 800 ที่นั่ง มีทั้งชั้นประหยัด (Economy) และชั้นธุรกิจ (Business) พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก  ขณะที่อาหารจะเสิร์ฟและขายบนรถไฟนั้นจะสนับสนุนท้องถิ่นโดยใช้สินค้าโอท็อปประจำท้องถิ่น เช่น สถานีสระบุรี คือ กะหรี่ปั๊บ สถานีปากช่องเป็นนมข้าวโพด ส่วนเรื่องการคิดค่าโดยสารนั้นจะใช้แนวทางเดียวกับสายการบินคือตั้งราคาเพดานไว้ก่อน ส่วนราคาจำหน่ายจะขึ้นอยู่กับช่วงการจองตั๋ว เช่น จองตั๋วก่อนการเดินทาง หรือนอกช่วงเวลาเร่งด่วนค่าโดยสารจะถูกกว่าเพดาน ดังนั้นหากวางแผนการเดินทางล่วงหน้า ราคาก็จะถูกลงกว่าที่กำหนดไว้ แต่อาจมีการจัดโปรโมชั่น อย่างเช่น การลดราคาตั๋วรายเดือน

ด้านงานโยธาวงเงิน 1.25 แสนล้านบาทนั้น  ยืนยันว่าจะเปิดประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ตามเงื่อนไขของไทย จะไม่ใช้แนวทาง International Bidding เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนของไทยเข้ามารับงาน แต่ถ้าหากบริษัทต่างชาติจะเข้ามาร่วมมือกับบริษัทไทย (Joint Venture) เพื่อประมูลก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามพื้นที่ซึ่งน่าเป็นห่วงในการก่อสร้างจะอยู่ในช่วงก่อนเข้าลำตะคลอง ซึ่งจะมีการขุดเจาะอุโมงค์ทั้งหมด 4 จุด แบ่งเป็นระยะทาง 2.3 กิโลเมตร 1.6 กิโลเมตร 800 เมตร และ 700 เมตร เนื่องจากอาจเป็นงานก่อสร้างที่ซับซ้อนและใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างนานในการขุดอุโมงค์ระยะทางยาวถึง 2 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของกรมทางหลวง (ทล.) ในช่วงที่ 1 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (กม.) นั้น จะใช้ระยะเวลา 6 เดือน เป็นการก่อสร้างระดับดิน ซึ่งไม่แตกต่างจากการสร้างถนนทางหลวง โดยแนวเส้นทางโครงการระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีทั้งสิ้น 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีพระนครศรีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา ระยะทางรวม 252.3 กม. เป็นทางยกระดับ 181.9 กม. ทางระดับพื้น 64 กม. เป็นอุโมงค์ 6.4 กม.

สำหรับ 3 ช่วงที่เหลือนั้นประกอบ ด้วย ช่วงที่ 2 สีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กม. และช่วงที่ 4 บางซื่อ-แก่งคอย ระยะทาง 119 กม. โดยจะดำเนินการหาผู้รับเหมาด้วย วิธีการประกวดราคาตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

ภาพประกอบข่าว