posttoday

"อาคม" สั่งต่อขยายสายสีม่วงไปสมุทรปราการ

18 ธันวาคม 2560

รมว.คมนาคม สั่งต่อขยายสายสีม่วงไปสมุทรปราการ เล็งเพิ่มสถานีเชื่อมต่อรับรถไฟฟ้าชานเมือง พร้อมเผย 3 ปัญหาการพัฒนารถไฟฟ้า

รมว.คมนาคม สั่งต่อขยายสายสีม่วงไปสมุทรปราการ เล็งเพิ่มสถานีเชื่อมต่อรับรถไฟฟ้าชานเมือง พร้อมเผย 3 ปัญหาการพัฒนารถไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมเปิดเผยภายหลังการประชุมผลการศึกษารถไฟฟ้าระยะที่สอง หรือ M-Map 2 ว่าการศึกษารถไฟฟ้าระยะที่ 2 จำนวน 10 เส้นทางนั้นเป็นแผนพัฒนาระบบขนส่งเมืองหลวงระยะ 20 ปี ช่วงปี 2560-2579 เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่และสะท้อนปัญหาการพัฒนาระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าเฟส 1 ที่ผ่านมาจำนวน 10 สายแรก

สำหรับนโยบายที่ได้มอบให้ฝ่ายญี่ปุ่นไปศึกษาแนวทางพัฒนารถไฟฟ้าระยะที่สองนั้นได้ให้เน้นไปที่การเขื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนรูปแบบต่างๆให้เกิดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ ทั้งการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าไปเชื่อมต่อโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน ตลอดจนพัฒนาให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงและโครงการรถไฟรางคู่เส้นทางต่างๆเพื่อกระจายผู้โดยสารไม่ให้เข้ามากระจุกแค่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน อย่างไรก็ตามการพัฒนารถไฟฟ้าในอนาคตนั้นได้เสนอแนะให้เน้นไปที่การออกแบบสถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายต่างหรือ Interchange Station ให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในอนาคตโครงข่ายรถไฟฟ้าจะเป็นการวิ่งออกไปชานเมืองระยะยาว 40-60กิโลเมตร ดังนั้นจำเป็นต้องมีพื้นที่สถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ทุก 20 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มขึ้นเพื่อลดความแออัดของผู้โดยสารและรองรับการมีผู้ประกอบการรถไฟฟ้าสองสาย อาทิ สถานีเตาปูนที่มีการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของบีอีเอ็มและรถไฟฟ้าสายสีม่วงของรฟม. เบื้องต้นได้มองจุดที่เหมาะสมในการพัฒนา Interchange Station ไว้คร่าวๆอาทิ บางแค นนทบุรี สมุทรสาคร

 

"อาคม" สั่งต่อขยายสายสีม่วงไปสมุทรปราการ

นายอาคมกล่าวต่อว่าสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายเดิมที่การศึกษาเห็นว่าเหมาะสมพัฒนาต่อขยายเส้นทางออกไปนั้นได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มีศักยภาพที่จะต่อขยายเส้นทางไปอีก 20 กิโลเมตร คือเส้นทางช่วง ราษฎร์บูรณะ-สมุทรปราการเพื่อรับประชาชนในเขตเมืองมากขึ้นและช่วยลดภาระความแออัดของรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้

นอกจากนี้ยังมีแผนยกระดับรถไฟระหว่างเมืองเดิมเส้นทางกรุงเทพ-สมุทรปราการ ให้มาเป็นรถไฟชานเมืองที่มีทางวิ่งยกระดับเนื่องจากปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวมีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมากจึงมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นรถไฟชานเมืองได้

ขณะที่โครงการเดิมอย่างรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-เอกมัยและสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-บึงกุ่ม ได้สั่งการให้ทีมงานศึกษาไปดูรูปแบบการพัฒนาว่าแนวเส้นทางดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสารหรือไม่

อย่างไรก็ตามสำหรับประเด็นรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ที่ได้สั่งการให้รฟม.ไปดำเนินการศึกษาแผนการก่อสร้างใหม่นั้นคาดว่ารฟม.จะเสนอแผนร่วมทุนพีพีพีและแนวทางการก่อสร้างรวมถึงเดินรถเข้ามาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาพร้อมกัน ส่วนเรื่องผู้ประกอบการเดินรถสายสีส้มตะวันตก-ตะวันออกนั้นยังคงยึดตามแนวทางเดิมคือให้มีผู้ประกอบการรายเดียวต่อไป

ทั้งนี้หลังจากไปสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อรถไฟฟ้าระยะที่สองนั้น ปัญหาที่พบมากที่สุด 3 อันดับคือ 1.เส้นทางรถไฟฟ้าในปัจจุบันไม่ครอบคลุมพื้นที่เขตชานเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก 2. ผู้โดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีความแออัดเป็นอย่างมากจนรวมถึงเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูงมากขึ้นเรื่อยๆจนเกินรับภาระไหว 3.ไม่มีระบบเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีรถไฟฟ้าไปยังที่หมาย

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กล่าวว่า สำหรับแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 นั้น จะมีการประชุมคณะทำงานอีกครั้งในเดือน ก.พ. 2561 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะได้ร่างแผนแม่บทดังกล่าวภายในเดือน เม.ย. 2561 และแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.ปีหน้า