posttoday

หวั่นโซลาร์เซลล์ก่อขยะ7แสนตัน

24 พฤศจิกายน 2560

จับตาแผนส่งเสริมโซลาร์ เซลล์ 6,000 เมกะวัตต์ หวั่นสร้างขยะ 7.5 แสนตัน ใน 25 ปี ดันแจ้งเกิดโรงงาน รีไซเคิลรองรับ

จับตาแผนส่งเสริมโซลาร์เซลล์ 6,000 เมกะวัตต์ หวั่นสร้างขยะ 7.5 แสนตัน ใน 25 ปี ดันแจ้งเกิดโรงงาน รีไซเคิลรองรับ

นายเผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เปิดเผยในเวทีเสวนา เรื่อง "แนวทางการจัดการซากแผงโซลาร์เซลล์ของภาคอุตสาหกรรม" ว่าจากการที่ไทยมี นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) จำนวน 6,000 เมกะวัตต์ ในปี 2579 เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน แต่ขณะเดียวกันจากการประเมินการติดตั้งจะเกิดซากแผงโซลาร์เซลล์สะสมหรือของเสียสูงถึง 7.5 แสนตัน หลังหมดอายุการใช้ งานในอีก 25 ปีข้างหน้า ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์ มีทั้งส่วนที่ไม่เป็นอันตรายและส่วนที่เป็นโลหะหนักอันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นต้องเตรียมพร้อมหาแนวทางจัดการแผงโซลาร์เซลล์แสงอาทิตย์ที่หมดอายุอย่าง เหมาะสม

นายเอกบุตร อุดมพงศ์ วิศวกรชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ.ได้จัดทำแผนแม่บทการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ : เซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เพื่อที่ จะกำหนดแนวทางการจัดการซากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ ยอมรับว่าวิธีทำลายยังคงใช้วิธีฝังกลบดีที่สุด เพราะยังไม่มีทางเลือกอื่น แม้ว่าการนำมารีไซเคิลจะเป็นวิธีที่ดีกว่า แต่ก็ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนจนกว่าจะมีแผงโซลาร์หมดอายุที่มากพอ ขณะนี้มีแผงที่เสียหายและเป็นขยะโดยมีการขออนุญาตไปฝังกลบแล้ว 246 ตัน ล่าสุดมีเอกชนมายื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลขยะจากโซลาร์เซลล์กับ กรอ.แล้ว ซึ่งจะเป็นโรงงานแห่งแรกในไทย

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการตั้งโรงงานรีไซเคิลได้ โดยอยู่ระหว่างการเจรจาสัดส่วนการร่วมทุนระหว่าง นักธุรกิจไทยกับจีนเพื่อตั้งโรงงานรีไซเคิลแห่งแรกในไทยที่จะได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการกับ กรอ.ไปแล้ว และเตรียมจะขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดว่าจะสรุปความชัดเจน ต้นปี 2561 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้กลางปี 2561 โดยมองพื้นที่ตั้งไว้ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดว่า จะใช้เงินลงทุนเพื่อดำเนินการเฟสแรก 60 ล้านบาท

ภาพประกอบข่าว