posttoday

หวั่นเอกชนเมินประมูลท่าเรือ 2 พันล้าน ส่อพับโครงการอู่ต่อเรืออีอีซี

22 พฤศจิกายน 2560

เจ้าท่าฯโอดธนารักษ์คิดค่าตอบแทนสุดโหด ปัดให้ท้องถิ่นบริหารท่าเรือ ส่อพับโครงการอู่ต่อเรืออีอีซีหลังเอกชนมองไม่คุ้มค่า ค้านดันสถาบันเรือออกนอกระบบเหตุยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ

เจ้าท่าฯโอดธนารักษ์คิดค่าตอบแทนสุดโหด ปัดให้ท้องถิ่นบริหารท่าเรือ ส่อพับโครงการอู่ต่อเรืออีอีซีหลังเอกชนมองไม่คุ้มค่า ค้านดันสถาบันเรือออกนอกระบบเหตุยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ

นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ กรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าเตรียมเสนอเรื่องการขอเปิดประมูลท่าเรือร้างที่ยังไม่มีผู้บริหาร เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายในเดือนพ.ย.นี้ ประกอบด้วย ท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด วงเงิน 1,200 ล้านบาท ท่าเรือศาลาลอย จ.พระนครศรีอยุธยา วงเงิน 400 ล้านบาท ท่าเรือคลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 429 ล้านบาทและท่าเรือนครพนม วงเงิน 200 ล้านบาท อย่างไรก็ตามถึงแม้กบส.จะพิจาณณาเห็นชอบโครงการให้สามารถดำเนินการได้ แต่ก็ยังหวั่นใจว่าจะมีเอกชนเข้ามายื่นข้อเสนอประมูลโครงการหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันกรมธนารักษ์ยังไมได้ข้อสรุปเรื่องอัตราจัดสรรผลตอบแทนที่เหมาะสม ประกอบกับเอกชนที่เข้ามาประมูลท่าเรือนั้นต้องลงทุนพัฒนาพื้นที่ท่าเรือและอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า ซึ่งต้องลงทุนนับร้อยล้านบาท แต่กรมธนารักษ์กลับคิดอัตราค่าตอบแทนปีละ 50% ของรายได้ทั้งหมดซึ่งยังไม่หักต้นทุนค่าใช้จ่าย ประกอบกับให้สัมปทานเพียง 5 ปี เท่านั้นซึ่งเอกชนส่วนใหญ่มองว่าไม่คุ้มค่าและมความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูงมากหากตัดสินใจเข้าร่วมประมูลโครงการ ดังนั้นหากต้องการเดินหน้าแผนฟื้นฟูท่าเรือร้างจำเป็นต้องมีการปรับอัตราค่าตอบแทนรวมถึงขยายระยะเวลาสัมปทาน ส่วนประเด็นที่จะให้กรมเจ้าท่าหรือหน่วยงานท้องถิ่นเข้าไปดูแลบริหารนั้น ขอยืนยันว่าไม่เหมาะสมเพราะกรมเจ้าท่าเป็นเพียงหน่วยงานกำกับดูแลท่าเรืออีกทั้งหน่วยงานท้องถิ่นเองยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะเข้ามาบริหารและรับภาระค่าใช้จ่ายด้านบำรุงรักษาของท่าเรือซึ่งมากถึงหลายหมื่นบาทต่อเดือน จึงต้องให้เอกชนที่มีความพร้อมเข้ามาบริหารท่าเรือให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งด้านงานบริการผู้โดยสารและประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำ

ด้านแหล่งข่าวจากกรมเจ้าท่าเปิดเผยว่า กรมเจ้าท่ายังเตรียมเสนอแผนศึกษาความเหมาะสมการลงทุนก่อสร้างอู่ต่อเรือในพื้นที่อีอีซีวงเงินลงทุน 2000 ล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมกบส. อย่างไรก็ตามมองว่าโครงการดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริงเพราะดูแล้วไม่มีความคุ้มค่า โดยเฉพาะเอกชนที่เป็นเจ้าของเรือต่างคัดค้านโครงการดังกล่าวเนื่องจากค่าใช้จ่ายการต่อเรือในประเทศไทยนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับการต่อเรือในประเทศจีน ดังนั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงไม่สนใจที่จะเข้ามาต่อเรือในประเทศไทย ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความต้องการของเจ้าของอู่ต่อเรือเพียงฝ่ายเดียวอีกทั้งยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันในอุตสาหกรรมดังกล่าวกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่านอกจากนี้สถาบันเดินเรือและศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีซึ่งอยู่ในสังกัดกรมเจ้าท่าเตรียมเสนอบอร์ดกบส.ให้พิจารณาเห็นชอบเรื่องแนวทางการออกนอกระบบราชการเพื่อผันตัวไปเป็นสถาบันเอกชนเต็มตัว ซึ่งทางกรมเจ้าท่ามีความกังวลและไม่เห็นด้วยที่จะดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว เนื่องจากกรมเจ้าท่ามองว่าสถาบันเหล่านี้ยังไม่มีความพร้อมทั้งด้านหลักสูตรและคุณภาพของบุคลากร อีกทั้งยังไม่สามารถประกันดีมานต์ความต้องการสายงานในตลาดให้กับนักศึกษาอีกด้วยว่าจะมีความต้องการมากน้อยแค่ไหนโดยเฉพาะเรื่องการจัดหารายได้ของสถาบันเพื่อพัฒนาคุณภาพและหลักสูตรในอนาคตนั้นยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางว่าจะจัดหารายได้อย่างไรให้เป็นไปตามเกณฑ์ตามเงื่อนไขที่กำหนด