posttoday

"พิชิต"หวั่นรถไฟสายสีแดงขาดทุน

09 กันยายน 2560

คมนาคมเคาะรถไฟรับภาระหนี้ 3.2 หมื่นล้าน บริหารสายสีแดง ชงแผนเข้าคนร.เดือนต.ค.นี้ คาดผู้โดยสาร 8.5 หมื่นคนต่อวัน

คมนาคมเคาะรถไฟรับภาระหนี้ 3.2 หมื่นล้าน บริหารสายสีแดง ชงแผนเข้าคนร.เดือนต.ค.นี้ คาดผู้โดยสาร 8.5 หมื่นคนต่อวัน

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร วงเงิน 93,950 ล้านบาท นั้นตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 9 ก.พ. 2559 ได้ระบุว่า โครงการดังกล่าวรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนงานโยธาวงเงิน 61,551 ล้านบาท และให้เอกชนผู้บริหารการเดินรถลงทุนอีกราว 32,399 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาที่ 3 ได้แก่ การจัดหาขบวนรถ งานระบบการเดินรถรวมถึงงานรักษาและซ่อมบำรุง ซึ่งหากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ต้องการบริหารเส้นทางดังกล่าวจะต้องรับเม็ดเงินลงทุนก้อนดังกล่าวไปตามมติ ครม.

อย่างไรก็ตามทาง รฟท.ได้แจ้งว่าจะดำเนินการสรุปแผนรับช่วงเดินรถสายสีแดงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาครัฐบาลโดยจะเสนอแผนดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคนร.ชุดใหญ่ในเดือนต.ค.ต่อไป ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงมีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2563

นายพิชิตกล่าวต่อว่า จากผลศึกษาเบื้องต้นของโครงการดังกล่าวรายงานว่าจะมีผู้ใช้บริการราว 1 แสนคนต่อวัน ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าการบริหารรถไฟฟ้าสายสีแดงอาจมีความเสี่ยงไม่คุ้มทุนเพราตัวเลขรายรับน้อยกว่ารายจ่าย แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ามีอัตราขาดทุนเท่าไหร่ต้องรอผลศึกษาฉบับสมบูรณ์ซึ่งจะเสนอที่ประชุมอนุคนร.ในเดือนนี้ ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงมองว่าโครงการดังกล่าวอาจต้องใช้วิธีร่วมทุนแบบPPP Gross Cost เพื่อลดความเสี่ยงให้กับ รฟท. โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและรับความเสี่ยงด้านรายได้และให้สัมปทสนเอกชนบริหารและซ่อมบำรุงโดยจัดสรรผลตอบแทนให้กับภาครัฐ

อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวยังถือว่ามีศักยภาพอีกมากเนื่องจากในอนาคตจะมีส่วนต่อขยาย 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 ร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร จึงมีโอกาสที่ปริมาณการเดินทางจะเพิ่มขึ้นอีกมาก จนมีเอกชนรายอื่นเข้ามาใช้รางเพื่อวิ่งให้บริการรถไฟร่วมกับ รฟท. (Sharing Track) ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นกระทรวงคมนาคมจะกำหนดให้เอกชนต้องแบ่งรายได้เป็นค่าใช้รางให้กับรฟท.อีกด้วย

ด้านแหล่งข่าวจากรฟท.เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น รฟท.ได้คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเบื้องต้นไว้ที่85,000 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่ถือว่าโครงการดังกล่าวไม่มีความคุ้มค่า เนื่องจากการจัดตั้งบริษัทลูกด้านเดินรถเพื่อเข้ามาบริหารนั้น ตามหลักการต้องแน่ใจว่าโครงการนี้มีกำไรจึงจะดำเนินการจัดตั้งบริษัทได้ ซึ่งรฟท.ได้คาดการณ์กำไรของโครงการนี้ไว้ราว 5% ซึ่งแตกต่างมากเมื่อเทียบกับเอกชนที่ตั้งเป้ากำไรไว้ถึง 14%

ดังนั้น ถ้าหาก รฟท.เป็นผู้รับช่วงเดินรถโครงการนี้จะมีผลดีต่อสังคมและผู้ใช้บริการเนื่องจากภาครัฐสามารถกำหนดนโยบายการบริหารและควบคุมคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสามารถกำหนดนโยบายราคาเพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีจำเป็นได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้รัฐบาลจำเป็นต้องหาข้อสรุปว่าจะรฟท.เป็นผู้เดินรถหรือเปิดให้เอกชนรายใดเข้ามาบ้างเพื่อให้เวลารฟท.เตรียมตัวในการจัดโครงสร้างบริษัทและฝึกอบรมบุคลากรให้มีความพร้อมดำเนินโครงการในปี 2563 ส่วนประเด็นด้านการเปิดร่วมทุนระหว่างรัฐบาล-รฟท.ในรูปแบบ PPP Gross Cost ถือว่าเป็นข้อเสนอที่สามารถรับได้