posttoday

เปิดทำเลทองมักกะสัน 2 แสนล้าน

31 สิงหาคม 2560

นิด้าเผยผลศึกษาการพัฒนาพื้นที่มักกะสัน แบ่งพัฒนา 4 แปลง รวม 500 ไร่ บิ๊กอสังหารุมตอม คาดมูลค่า 200,000 ล้านบาท

นิด้าเผยผลศึกษาการพัฒนาพื้นที่มักกะสัน แบ่งพัฒนา 4 แปลง รวม 500 ไร่ บิ๊กอสังหารุมตอม คาดมูลค่า 200,000 ล้านบาท

ผศ.ดร.ประดิษฐ์ วิธิศุภกร อธิการบดีสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ในฐานะประธานที่ปรึกษาโครงการ เปิดเผยว่า รฟท.ได้ดำเนินการว่าจ้างศึกษาแผนพัฒนาพื้นที่มักกะสัน จำนวน 500 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นอีกทำเลทองของเมืองหลวงมูลค่านับแสนล้านบาท โดยจากการศึกษาพบว่าจะพัฒนาตามแนวทางดังนี้

โครงการพัฒนาบริเวณพื้นที่ย่านมักกะสัน มีพื้นที่508.92 ไร่ การดำเนินงานออกเป็น 4 แปลง ประกอบด้วย แปลงเอ 139.82 ไร่ จะพัฒนาเป็นส่วนธุรกิจสำนักงาน อาทิ มักกะสันทาวเวอร์, ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ, อาคารสำนักงาน, อุตสากรรมของรัฐ, ธนาคาร และ โรงแรม

แปลงบี 179.02 ไร่ เป็นส่วนธุรกิจการค้า อาทิ สถานีเชื่อมสู่ท่าอากาศยาน, โรงแรม, ร้านค้าปลอดภาษี, ศูนย์ประชุม-สัมมนา, ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว, อาคารสำนักงาน, ห้างสรรพสินค้าและอาคารที่จอดรถ

แปลงซี 151.40 ไร่ ส่วนพิพิธภัณฑ์ รฟท. อาทิ พิพิธภัณฑ์ รฟท., ที่ทำการส่วนราชการและโรงแรม และแปลงดี38.68 ไร่ ส่วนที่อยู่และสาธารณสุข อาทิ โรงพยาบาลระดับนานาชาติ, โรงเรียนนานาชาติ, เวิลด์คิทเช่นมาร์ท, ศูนย์แสดงสินค้าและเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ซึ่งมีแผนจัดทำเป็นครีเอทีฟปาร์คแห่งแรกในประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้รฟท.หวังพัฒนาพื้นที่มักกะสันเป็น thailand gateway รองรับการพัฒนาเมืองแบบสมาร์ทซิตี้เชื่อมโยงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจอีอีซี ทั้งยังมีสวนสาธารณะจำนวน 150 ไร่ตามนโยบายรัฐบาลคสช.แบ่งเป็นโซนสวนสาธารณะ 85ไร่และโซนบึงมักกะสัน 65 ไร่ พร้อมเชื่อมต่อระบบการเดินทางอย่างครบครับทั้ง รถไฟความเร็วสูง(สถานีมักกะสัน) รถไฟฟ้าใต้ดิน(สถานีอโศก) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม(สถานีราชปรารภ) นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนารถไฟรางเบาระบบแทรมและรถโดยสารสาธารณะเพื่อรับส่งผู้โดยสารภายในพื้นที่มักกะสันอีกด้วย นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังนับว่าเป็นทำเลทองใจกลางเมืองที่รายล้อมด้วยโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ทั้งโครงการ G Land Tower โครงการที่พักอาศัยไฮเอนด์ the nine และสิงห์คอมเพล็กซ์อีกด้วย

สำหรับเอกชนและนักลงทุนหลายกลุ่มให้ความสนใจเข้าร่วมเวทีรับฟังเสียงภาคเอกชน อาทิ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, เครือบีทีเอส, บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM, ช.การช่าง, ศุภาลัย, พฤกษา, อารียา, แม็คโคร, แมกโนเลีย, เอราวัณ, บิ๊กซี, เซ็นทรัลพัฒนา, เจ้าพระยามหานคร, สยามพิวรรธน์, ภูเก็ตพัฒนาเมือง เป็นต้น

ด้านแหล่งข่าวจากนิด้าระบุว่า โครงการพื้นทีมักกะสันราว 500 ไร่นั้นมีมูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างมากจากที่รฟท.ศึกษาราคาพื้นที่เมื่อปี 2554 โดยปัจจุบันมีอัตรามูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 100% หรือมูลค่าราว 200,000 ล้านบาท