posttoday

กรมชลฯ เตรียมพร้อมรับมืออิทธิพลพายุ "ตาลัส"

17 กรกฎาคม 2560

กรมชลประทานเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุโซนร้อน "ตาลัส" ขณะที่น้ำในแม่น้ำสายหลักยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

กรมชลประทานเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุโซนร้อน "ตาลัส" ขณะที่น้ำในแม่น้ำสายหลักยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ 

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) พบว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ส่งผลให้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

ทั้งนี้ในวันที่ 17 ก.ค.พายุโซนร้อน “ตาลัส” (Talas) บริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนาม ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งทางใต้ของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนามแล้ว และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ โดยจะเคลื่อนผ่านทางตอนบนของประเทศไทยและจะสลายตัวบริเวณประเทศลาวตอนบน

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝนตกหนัก จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ตาลัส” นั้น กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจะใช้ระบบชลประทานและระบบป้องกันน้ำท่วม ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับกำชับให้เจ้าหน้าที่ชลประทานให้ประจำอยู่ ณ ที่ตั้งเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง ให้ตรวจสอบระบบชลประทานที่มีอยู่ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ

สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ในพื้นที่ก่อนอย่างน้อย 1 เครื่อง เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างทันท่วงที ส่วนในกรณีที่เกิดสภาวะวิกฤตให้รีบดำเนินการชี้แจงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อทำการแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเป็นประจำ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดปัญหาน้ำท่วม

อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำน่าน ตั้งแต่ จ.พิจิตร ถึง   จ.นครสวรรค์ และแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.ชัยนาท ถึง จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมแม่น้ำที่อยู่นอกคันกั้นน้ำบางแห่งบริเวณ อ.เสนา และ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนแม่น้ำสายอื่นๆ มีระดับต่ำกว่าตลิ่งสามารถรองรับน้ำได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ พบว่าสภาพน้ำท่าทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มทรงตัว โดยปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ อยู่ในเกณฑ์ 1,262 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อรวมกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังที่ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มมีฝนตกชุกกระจาย ทำให้มีน้ำขังในระบบชลประทานและพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำ โดยเฉพาะนาข้าวทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออก เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างสะดวกและมีความชื้นน้อย

สำหรับปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำเข้าไปตามศักยภาพที่รับได้ พร้อมกับควบคุมระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับ +15.50 ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,350 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่จะตกหนักลงมาอีกจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนตาลัส