posttoday

ครม.เคาะค่าตั๋วรถไฟเร็วสูงกทม.-โคราช535บาทตลอดสาย

11 กรกฎาคม 2560

ครม.เคาะราคาตั๋วรถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช 535 บาทตลอดสาย คาดผู้โดยสารทะลุ 5 พันคนต่อวันโกยรายได้ปีแรกหลักพันล้าน

ครม.เคาะราคาตั๋วรถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช 535 บาทตลอดสาย คาดผู้โดยสารทะลุ 5 พันคนต่อวันโกยรายได้ปีแรกหลักพันล้าน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย ตอนที่1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ระยะทาง 253 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ก่อนเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2564 ใช้ความเร็วเฉลี่ย 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เฉลี่ยวิ่งได้ 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดค่าโดยสารไว้ตลอดสายอยู่ที่ 535 บาท รถออกทุก 90 นาทีและคาดว่า จะมีปริมาณผู้โดยสาร ประมาณ 5,310 คนต่อวัน คิดเป็นรายได้ค่าโดยสารเฉลี่ยปีละ 1,036 ล้านบาทต่อปีหรือเดือนละ 86 ล้านบาท จากนั้นในปี 2594 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 26,830 คนต่อวัน คิดเป็นรายได้ค่าโดยสารเฉลี่ยปีละ 5,239 ล้านบาทต่อปีหรือเดือนละ 436 ล้านบาท ประกอบด้วยสถานียกระดับจำนวน 6 สถานี ได้แก่สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่องและสถานีนครราชศรีมา โดยมีศูนย์ซ่อมและควบคุมการเดินรถ (Depot) อยู่ที่บริเวณสถานีรถไฟเชียงรากน้อย

นายอาคมกล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายสถานีเพื่อจะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อสร้างเมืองใหม่รวมถึงพัฒนาพื้นที่รอบข้างสถานีรองรับการเติบโตภาคท่องเที่ยวรวมถึงกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นนั้นกระทรวงคมนาคมได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ 3 สถานีแล้วได้แก่ 1.สถานีสระบุรี 2.สถานีปากช่องและ3.สถานีนครราชสีมา ทั้งนี้ในภาพรวมทั้งโครงการช่วงกรุงเทพ-หนองคายจะรวมระยะทางทั้งสิ้น 647 กิโลเมตร แบ่งเป็นกรุงเทพ-นครราชสีมา 253 กิโลเมตรและ นครราชสีมา-หนองคาย 394 กิโลเมตร รวม 4 สถานี ได้แก่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรและหนองคาย คาดว่าจะเปิดเดินรถได้เร็วที่สุดคือในช่วงปลายปี 2565

รมว.คมนาคมกล่าวอีกว่า การประชุมครั้งที่ 19 ร่วมกันระหว่างฝ่ายไทย-จีนนั้นได้ข้อสรุปและความคืบหน้ารายละเอียดการดำเนินโครงการคืบหน้าไปมาก โดยรัฐบาลไทยได้เร่งให้ฝ่ายจีนออกแบบรายละเอียดความเหมาะสมและการก่อสร้างโครงการทั้งฉบับให้เสร็จสมบูรณ์เเล้วเสร็จภายใน 8 เดือนหรือภายในไตรมาสแรกของปี 2561 ด้วยกรอบวงเงินค่าออกแบบทั้งสิ้น 1,706 ล้านบาท ลดลงจากราคากลางเดิมที่กำหนดไว้ราว 1,824 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้จะทอยอยมองเห็นความชัดเจนมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการประชุมร่วมไทย-จีนครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 15 ส.ค.-17ส.ค.นี้ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญา 2.1เรื่องสัญญาการออกแบบ หลังจากนั้นในเดือน ก.ย.จะสามารถลงนามสัญญา2.2 เรื่องที่ปรึกษาควบคุมงาน ก่อนเริ่มต้นตอกเสาเข็มก่อสร้างในเดือน ต.ค. ควบคู่ไปกับการเร่งพิจารณาการออกแบบช่วงที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กิโลเมตร เพื่อเปิดประมูลภายใน 4 เดือนนับตั้งแต่ลงนามสัญญา 2.2 หรือภายในช่วงปลายปีนี้

 

ครม.เคาะค่าตั๋วรถไฟเร็วสูงกทม.-โคราช535บาทตลอดสาย

 

สำหรับแผนการก่อสร้างตอนที่ 1 จากสถานีกลางดง – ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. วงเงิน 425 ล้านบาทนั้นจะไม่มีการเปิดประมูลแต่จะใช้วิธีพิเศษในการก่อสร้างโดยภาครัฐบาลลงทุนเองทั้งหมดจากเงินกู้ภายในประเทศ ซึ่งกระทรวงคมนาคม (คค.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ไปดำเนินการก่อสร้างช่วงแรกเพื่อความรวดเร็วในการก่อสร้างโครงการประกอบกับทล.มีบุคลากรช่างและอุปกรณ์ก่อสร้างพร้อมอยู่แล้วอีกทั้งยังมีประสบการณ์ก่อสร้างทางยกระดับหรือสะพานอีกด้วยซึ่งสอดคล้องกับการออกแบบช่วงแรก 3.5 กิโลเมตรที่เป็นแบบทางรถไฟยกระดับ อย่างไรก็ตามด้านกรอบวงเงินการดำเนินโครงการระหว่างปี 2560-2564 ได้กำหนดไว้ดังนี้ ปี 2560 ใช้เงินงบประมาณ 2,648 ล้านบาท ปี 2561 ใช้เงินงบประมาณ 43,092 ล้านบาท ปี 2562 ใช้เงินงบประมาณ 62,216 ล้านบาท ปี 2563 ใช้เงินงบประมาณ 59,702 ล้านบาท ปี 2564 ใช้เงินงบประมาณ 12,017 ล้านบาท

"ขอย้ำว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องให้ครบทุกช่วงตามแผนโดยไม่มีการหยุดชะงักจนกลายเป็นอนุสรณ์แบบโครงการโฮปเวลล์อย่างที่ผ่านมาแน่นอน ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่ารัฐบาลนั้นตั้งใจทำจริงไม่มีการก่อสร้างไปแค่ระยะแรก 3.5 กิโลเมตรหรือระยะที่สอง 11 กิโลเมตรอย่างที่บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตแน่นอน"นายอาคมกล่าว

นายอาคม กล่าวต่อว่า โครงการรถไฟไทยจีนความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนจากจีน ลาว ไทย ถึงสิงคโปร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์การสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ของภูมิภาคและยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เชื่อมกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก