posttoday

พณ.แจงปมญี่ปุ่นร้องทุเรียนอ่อนจากไทย เหตุผู้นำเข้าไม่รอให้สุกก่อนขาย

16 พฤษภาคม 2560

"พาณิชย์"ชี้แจงกรณีญี่ปุ่นร้องกินทุเรียนอ่อนจากไทย ชี้เหตุเกิดจากผู้นำเข้าไม่ทราบทุเรียนสุกหรืออ่อนนำขายผู้บริโภคทั้งหมด เร่งจัดกิจกรรมทำความเข้าใจบริโภคทุเรียนอย่างถูกต้อง

"พาณิชย์"ชี้แจงกรณีญี่ปุ่นร้องกินทุเรียนอ่อนจากไทย ชี้เหตุเกิดจากผู้นำเข้าไม่ทราบทุเรียนสุกหรืออ่อนนำขายผู้บริโภคทั้งหมด เร่งจัดกิจกรรมทำความเข้าใจบริโภคทุเรียนอย่างถูกต้อง

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวว่าผู้นำเข้าทุเรียนต่างประเทศร้องเรียนว่าทุเรียนไทยไม่ได้มาตรฐาน และพบว่าเป็นทุเรียนอ่อนทำให้ไม่สามารถรับประทานได้ว่า นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้เร่งตรวจสอบผู้รวบรวมทุเรียน (ล้ง)  พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจก่อนที่จะส่งทุเรียนออกจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาการขายทุเรียนอ่อน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ตลาดส่งออกหลักของทุเรียนไทย ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ซึ่งผู้บริโภคในประเทศดังกล่าวนิยมบริโภคทุเรียนของไทยเป็นอย่างมากขณะเดียวกันก็พบว่า ยังมีผู้บริโภคบางประเทศที่ยังไม่เข้าใจถึงการบริโภคทุเรียนว่าควรจะต้องส่งกลิ่นหอมและสุกก่อน จึงจะรับประทานได้ โดยประเทศไทยได้ส่งออกทุเรียนทั้งที่สุกแล้วและรอระยะเวลาการสุกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งเมื่อไปถึงตลาดปลายทางผู้จัดจำหน่ายในประเทศนั้นๆได้นำทุเรียนทั้งหมดออกจำหน่ายทันที โดยไม่ทราบว่าทุเรียนนั้นสุกหรือไม่ เมื่อผู้บริโภคซื้อไปรับประทาน จึงได้ทุเรียนที่ยังไม่สุก ทำให้ลูกค้าตำหนิและขอเงินคืน

“กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้สั่งการไปยังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยรวมทั้งทุเรียน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และส่งเสริมการบริโภคผลไม้อย่างถูกต้อง พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกร และผู้ส่งออกก่อนส่งออกทุเรียนไปยังตลาดต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย” น.ส.บรรจงจิตต์ กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในเร่งประสานไปยังกรมวิชาการเกษตรให้ตรวจสอบและกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องได้มาตรฐานก่อนการส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ เพื่อให้ทุเรียนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและเกิดภาพลักษณ์ที่ดี รวมทั้ง เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับการส่งออกผลไม้ไทยประเภทต่างๆ ไปยังต่างประเทศในระยะยาวอีกด้วย

สำหรับการสำรวจล้งเบื้องต้นพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย เกิดจากเกษตรกรขายทุเรียนยกสวนทำให้ทุเรียนมีการผสมกันระหว่างทุเรียนสุกกับทุเรียนอ่อน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นระหว่างต้นเดือนเม.ย.ถึงกลางพ.ค.ของทุกปี เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวทุเรียนไทยกำลังทยอยออกผลผลิตและเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก  เกษตรกรจึงเร่งตัดทุเรียนออกจำหน่าย ทำให้ทุเรียนที่ส่งออกไม่ได้มาตรฐานหรือเป็นทุเรียนอ่อน จึงขอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกและการค้าทุเรียนให้คำนึงถึงคุณภาพเป็นหลักเพื่อรักษาตลาดต่างประเทศ

ปัจจุบันล้งผลไม้ในไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีจำนวนทั้งสิ้น 389 ราย โดยเป็นนิติบุคคลที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างชาวไทยกับชาวต่างชาติ จำนวน 95 ราย คิดเป็น 24.42% ของจำนวนล้งที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินธุรกิจทั้งล้งไทยและล้งที่ร่วมลงทุนเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้กำหนดแผนพัฒนาศักยภาพล้งไทยให้มีความเข้มแข็งและต่อยอดองค์ความรู้โดยใช้นวัตกรรมช่วยในการขยายตลาด เช่น การใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-คอมเมิร์ซ มาช่วยในการขยายตลาด

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น จีน และฮ่องกง เร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริง หลังจากที่มีการแชร์ข้อมูลผ่านโลกโซเชียล พบมีการนำทุเรียนอ่อนที่ยังบริโภคไม่ได้ออกมาวางจำหน่าย ทฃหากเป็นจริงตามที่แชร์กันอยู่ขณะนี้ ถือเป็นสิ่งที่น่าวิตกมาก เพราะเป็นการทำลายชื่อเสียงผลไม้ไทย ไม่ใช่เฉพาะผลไม้ทุเรียนเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงจะเร่งตรวจสอบ เพื่อป้องกันปัญหาต่อไป

“ได้กำชับให้สำนักงานพาณิชย์ต่างประเทศ ช่วยประสาน ชี้แจงกับผู้ประกอบการที่นำเข้าผลไม้ไทย ให้ช่วยกันดูแล เพราะหากยังมีการกระทำในลักษณะเช่นนี้อยู่ ตลาดต่างประเทศ คงงด หรือไม่สั่งซื้อสินค้าผลไม้ไทยอีก โดยแต่ละปีไทยส่งออกทุเรียนไปตลาดเหล่านั้นหลายหมื่นตัน มูลค่ากว่าพันล้านบาท จึงต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมกันดูแล ไม่ให้เกิดผลกระทบ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทราบว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแผนประชาสัมพันธ์ให้ชาวสวนทุเรียน ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว”