posttoday

หอการค้าไทยคาดเปิดเทอมเงินสะพัดกว่า 5 หมื่นลบ.

12 พฤษภาคม 2560

ม.หอการค้าเผยโพลคาดเงินสะพัดช่วงเปิดเทอมปีนี้ 5.01 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยเชิงบวก ปีนี้โต 3.6% ได้

ม.หอการค้าเผยโพลคาดเงินสะพัดช่วงเปิดเทอมปีนี้ 5.01 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยเชิงบวก ปีนี้โต 3.6% ได้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม จาก 1,202 ตัวอย่างทั่วประเทศ ว่า ในช่วงเปิดเทอมปีนี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดรวม 5.01 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.14% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 4.91 หมื่นล้านบาท สูงสุดนับตั้งแต่ทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2553 แต่การขยายตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2% เท่านั้น สะท้อนว่าผู้ปกครองยังมีการระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่ เพราะยังมองว่าเศรษฐกิจในระดับจลภาคยังไม่ฟื้นตัวจริงตามภาพเศรษฐกิจมหภาคที่ออกมา

ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นค่าใช้จ่ายต่อคนจะอยู่ที่ 12,295.70 บาท ส่วนใหญ่ 53.3% ระบุค่าใช้จ่ายในปีนี้เพิ่มขึ้นถึงเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วน 20.1% ตอบเท่าเดิม และอีก 16.7% ตอบน้อยลงถึงน้อยลงมาก อย่างไรก็ตาม คนที่ตอบค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเพราะรายได้สูงขึ้นจึงซื้อของเพิ่มจำนวนชิ้น รวมถึงราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้สินลดลง และภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ขณะที่คนตอบค่าใช้น้อยลง เพราะรายได้ลดลง มีการใช้ของเก่า-ของพี่ ไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจไทย มีภาระหนี้มาก และราคาของแพงขึ้น

สำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว แบ่งเป็น ค่าเล่าเรียน/ค่าหน่วยกิต 13,894.83 บาท เพิ่มขึ้น 41.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน  ค่าบำรุงโรงเรียนตามปกติ 2,133 บาท เพิ่มขึ้น 42.9% ค่าบำรุงโรงเรียนกรณีเปลี่ยนโรงเรียน/แป๊ะเจี๊ยะ 9,138.63 บาท เพิ่มขึ้น 47.1% ค่าหนังสือ 1,642.34 บาท เพิ่มขึ้น 34.2% ค่าอุปกรณ์การเรียน 1,928.79 บาท เพิ่มขึ้น 35.1% ค่าเสื้อผ้า 1,267.20 บาท เพิ่มขึ้น 49% ค่ารองเท้า/ถุงเท้า 772.32 บาท เพิ่มขึ้น 46% และค่าบริการจัดการพิเศษ เช่น ค่าประกันชีวิต 1,685.63 บาท เพิ่มขึ้น 31.1%

ขณะที่ส่วนใหญ่ 53.1% ตอบว่า มีเงินไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม ซึ่งทางออกที่เลือกใช้ส่วนใหญ่จะหาเงินด้วยการจำนำทรัพย์สิน รองลงมาคือ การกู้ยืมเงินในระบบ และการกดเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิต เพราะมองว่าเป็นช่วงสั้นๆ ที่พอจะหมุนเงินได้ทัน

"ค่าใช้จ่ายช่วงเปิดทอมปีนี้เพิ่มขึ้นสูงสุด เพราะของแพงขึ้น แต่อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2.14% ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย คนที่มีรายได้น้อยยังซื้อของน้อยชิ้น อะไรที่ยังใช้ได้ก็ยังใช้อยู่ หรือใช้ของพี่ เพราะแม้เศรษฐกิจมหาภาคดีขึ้น แต่ยังไม่กระจายไปยังทุกพื้นที่ เศรษฐกิจของประชาชนยังไม่ดีขึ้นจริง จึงระมัดระวังการก่อหนี้ แต่เพื่อการศึกษาของบุตรหลาน ผู้ปกครองพร้อมก่อหนี้ในระยะสั้น และโรงรับจำนำยังเป็นขวัญใจของผู้ปกครองอยู่เช่นเดิม" นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนเสริม ผู้ตอบส่วนใหญ่ส่งเสริมให้บุตรหลานเรียนเสริม โดยระดับมัธยมปลายเรียนเสริมมากที่สุด รองลงมาคือ มัธยมต้น มหาวิทยาลัย ประถม และอนุบาล เพราะการเรียนในโรงเรียนไม่เพียงพอต่อการแข่งขัน และเตรียมความพร้อมก่อนเรียน แต่ค่าเรียนพิเศษระดับมหาวิทยาลัยสูงที่สุดคือ 14,814 บาท ตามด้วยมัธยมปลาย 11,064 บาท ประถมศึกษา 10,704 บาท มัธยมต้น 9,740 บาท และอนุบาล 8,092 บาท

ขณะที่ความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการเงินกู้ของรัฐบาลในระดับมัธยม และอุดมศึกษา (กยศ.) นั้น ผู้ตอบส่วนใหญ่เห็นว่ามีความสำคัญมาก และเห็นด้วยปานกลางถึงมากที่สุดที่จะฟ้องนักเรียนที่ไม่ชำระหนี้  นอกจากนี้ ผู้ตอบส่วนใหญ่ต้องการให้ปรับปรุงปานกลางถึงมาก สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือการปรับปรุงหลักสูตรเพิ่มการใช้ทักษะแทนการท่องจำ และเพิ่มศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาให้สูงขึ้น โดยให้คะแนนระบบการศึกษาไทย 7.58 คะแนนจากเต็ม 10

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อถึงการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ว่า ม.หอการค้าไทยยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวอยู่ที่ 3.6% จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากได้ประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศสและเกาหลีใต้ รวมทั้งปัจจัยภายในทั้งภาคการส่งออกที่ดีขึ้น รายได้จากการทีองเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเงินลงทุนของภาคเอกชน และของรัฐที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นทำให้รายได้และกำลังซื้อของภาคเกษตรดีขึ้น รวมถึงมารตการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย

"จากสัญญาณที่ดี คาดว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกนี้จะโต 3.4% และในช่วงครึ่งปีหลังจะโตได้ 3.8% ส่งผลให้ทั้งปีนี้โตได้ที่ 3.6% ส่วนการส่งออกขยายตัวได้ที่ 2.8% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 1.5%" นายธนวรรธน์ กล่าว