posttoday

วิกฤตเชิงโครงสร้างฉุดเศรษฐกิจซึมนาน

21 มีนาคม 2560

นักเศรษฐศาสตร์เตือนเศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตเชิงโครงสร้าง จะซึมนานและอาจกลายเป็นวิกฤตต้มกบโดยไม่รู้ตัว เพราะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ระบุจีดีพีปีนี้โตได้ดีกว่า 3%

นักเศรษฐศาสตร์เตือนเศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตเชิงโครงสร้าง จะซึมนานและอาจกลายเป็นวิกฤตต้มกบโดยไม่รู้ตัว เพราะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ระบุจีดีพีปีนี้โตได้ดีกว่า 3%

สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ในหัวข้อ "เศรษฐกิจไทย 2560 : SOMTUM Crisis?!? (วิกฤตส้มตำ)" ว่า ในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณหรือวี่แววที่จะเกิดวิกฤต ไม่ว่าจะมองจากปัจจัยต่างประเทศหรือในประเทศ แต่เศรษฐกิจจะซึมๆ โตไม่สูง โดยปีนี้เศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยจะโต 3.3-3.5% สูงกว่าปีที่ผ่านมา

"เศรษฐกิจไทยไม่มีสัญญาณที่จะเติบโตลดลงมากๆ ในระยะสั้นเหมือนในอดีตปี 2540 ที่เคยเป็นวิกฤต แต่ จะโตช้า ซึมๆ ส่วนหนึ่งเพราะมีปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เราต้องปรับตัว การปักธงเสนอแนวทางการพัฒนาไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดี แต่องคาพยพที่จะไปถึงเป้าหมายยังต้องทำอีกหลายภาคส่วน หากปรับตัวไม่ได้ ไม่ว่าในเชิงประสิทธิภาพแรงงานหรือการศึกษา จะทำให้การเติบโตลดลงเรื่อยๆ ไม่สามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปได้ ประเทศ อื่นๆ จะแซงหน้าเรา" สกนธ์ กล่าว

ทั้งนี้ หากดูจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญทั้ง 4 ด้าน คือ การบริโภคของครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐ และการส่งออก จะเห็นว่าเริ่มมีการขับเคลื่อนให้ดีขึ้นแม้จะยังไม่ 100% โดยมีแรงส่งสำคัญจากการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งหากรัฐบาลเร่งให้เกิดการลงทุนในโครงการต่างๆ ได้จริง การลงทุนภาคเอกชน น่าจะตามมาได้ในระยะต่อไป ส่วนการบริโภคของครัวเรือนหรือการจับจ่ายใช้สอยในประเทศนั้น ต้องยอมรับว่าโตไม่สูงมานานแล้ว เพราะราคาสินค้าเกษตรไม่ดี มีหนี้ครัวเรือนจากการ กระตุ้นจากโครงการประชานิยมใน อดีต แต่ภาระหนี้หลายโครงการใน

อดีตก็เริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว เช่น รถคันแรก ทำให้เห็นสัญญาณการบริโภคปรับ ดีขึ้นบ้าง แต่คงโตไม่สูง เพราะธนาคารพาณิชย์ยังระมัดระวังการปล่อยกู้

สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการ ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ มธ. กล่าวว่า ในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยจะไม่เกิดวิกฤตแน่นอน แต่สภาพโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยน แปลงไป อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เคยจ้างงานเป็นหลัก 1 ล้านคน ก็ลดลงเหลือหลักแสนคน อุตสาหกรรมที่ผลิตรถยนต์ได้ปีละ 3 ล้านคัน ลดลงเหลือ 1 ล้านคัน และธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ที่เปลี่ยนไป เนื่องจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ กำลังจะมาแทนที่แรงงาน คำถามคือ เราจะปรับตัวกับภาวะที่อาจเกิดวิกฤตในเชิงโครงสร้างเช่นนี้อย่างไร

"โครงสร้างเปลี่ยนไป แม้ในระยะสั้นจะไม่เกิดวิกฤต แต่ก็อาจจะกลาย เป็นวิกฤตต้มกบได้ คือ ไม่รู้สึกว่าน้ำมันร้อน ไม่ปรับตัว ค่อยๆ ตายลงอย่างช้าๆ สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ไปเรื่อยๆ เหมือนจีดีพีไทยที่โตต่ำกว่า 5% มานานเป็น 10 ปี ถ้าไม่ปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงตามโครงสร้าง ใหม่ที่เข้ามา รู้สึกตัวอีกทีก็อาจไม่ทันเหมือนกบที่ไม่รู้ตัว มารู้ตัวอีกทีก็ตายตอนที่น้ำร้อนแล้ว" สุทธิกร กล่าว

ด้าน วิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชย ศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มเชิดหัวขึ้น ได้อย่างช้า ส่งผลให้สถานการณ์ของภาคธุรกิจและผู้ประกอบการอยู่ใน ภาวะ "ซึม" เนื่องจากปัจจัยต่างประเทศ เพราะภาคธุรกิจส่วนใหญ่พึ่งการส่งออกเป็นหลัก กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ จากภาวะซึม คือ กลุ่มที่ส่งออกไปประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง เช่น จีน สหรัฐ และยุโรป ซึ่งส่งผลต่อกลุ่ม ผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้ประกอบการจะลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (โอที) ตลอดจนลดการจ้างงาน ทำให้กำลังซื้อในประเทศไม่ดี