posttoday

ขนส่งเตรียมเปิดประมูลสร้างสถานีขนส่งสินค้าชายแดนวงเงิน3.5พันล้าน

06 มีนาคม 2560

กรมการขนส่งทางบกเตรียมเปิดประมูลสถานีขนส่งสินค้าชายแดน วงเงิน 3.5พันล้านบาท หนุนโลจิสติกส์อาเซียน

กรมการขนส่งทางบกเตรียมเปิดประมูลสถานีขนส่งสินค้าชายแดน วงเงิน 3.5พันล้านบาท หนุนโลจิสติกส์อาเซียน

นายสมศักดิ์ ห่มห่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เตรียมเปิดประมูลสถานีขนส่งสินค้า 2 แห่งตามแนวชายแดนในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ พีพีพี มูลค่ารวม 3,500 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย วงเงิน 2,300 ล้านบาท และโครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ. นครพนม วงเงิน 1,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นจุดขนส่งสำคัญตามแนวชายแดนเพื่อเชื่อมโยงการค้าในภูมิภาค และรองรับปริมาณสินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของการค้าชายแดนและเขตเศรษฐกิจพิเศษ เบื้องต้นมีเอกชนแสดงควาดมสนใจ 3-4 รายและการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ก็แสดงความสนใจด้วย เนื่องจาก กทท. เห็นว่าควรใช้ประสบการณ์บริหารจัดการสินค้าให้เป็นประโยชน์และต้องการพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้าบนบกเพิ่มเติม

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ขบ. อยู่ระหว่างทบทวนรายงานความเหมาะสมและผลตอบแทนการลงทุนศูนย์การขนส่งชายแดน จ. นครพนม  คาดว่าจะได้รับอนุมัติหลักการจากกระทรวงคมนาคมและเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาได้ภายในเดือน เม.ย. และเปิดประมูลแบบรัฐเอกชน (พีพีพี) ได้ประมาณเดือน ต.ค. 2560 ส่วนด้าน ศูนย์เปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าเชียงของนั้นเตรียมเสนอรายละเอียดให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือน เม.ย.-พ.ค. คาดว่าจะเปิดประมูลแบบพีพีพีได้ในเดือน ก.พ. 2561

"ที่เชียงของจะมีการลงทุนรถไฟทางคู่ผ่านศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะให้สร้างสถานีรถไฟในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเลย เพื่อให้การขนส่งทั้งหมดเชื่อมต่อกัน”นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานีขนส่งสินค้าทั้งสองแห่งนั้นเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาขนส่งสินค้าระหว่างปี 2559-2563 รวมทั้งสิ้น 19 แห่ง แบ่งเป็น 2 ระยะ โครงการระยะที่ 1 ระหว่างปี 2561-2564 ตั้งอยู่บริเวณชายแดน 9 แห่ง ได้แก่ เชียงราย, ตาก, หนองคาย, มุกดาหาร, สระแก้ว, ตราด, กาญจนบุรี, สงขลา, นราธิวาส และโครงการระยะที่ 2 ระหว่างปี 2562-2565 ตั้งอยู่ในเมืองหลัก 8 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่, นครสวรรค์, พิษณุโลก, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, สุราษฎร์ธานี

อย่างไรก็ตาม โครงการทั้ง 2 ระยะอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกัน โดยเฉพาะสถานีขนส่งสินค้า จ.พิษณุโลก ที่จะพัฒนาให้เป็นโลจิสติกส์ฮับของประเทศ

ทั้งนี้โครงการสถานีขนส่งเชียงของจะเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าในพื้นที่ได้ถึง 140% รวมทั้งสิ้น 195,000 ทีอียู ภายในระยะเวลา 20 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่เพียง 81,000 ทีอียู สอดคล้องกับสัดส่วนสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ในปัจจุบันที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 65เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งอยู่ที่เพียง 20%