posttoday

‘ข้าว-ยาง-ปาล์ม’อ่วมอรทัย

02 มกราคม 2559

สถานการณ์สินค้าเกษตรไทยในปี 2558 ถือว่าตกอยู่ในภาวะไม่สู้ดีนัก เพราะแม้ผลผลิตน้อยเพราะมีปัญหาเรื่องน้ำ

โดย...สิทธิณี ห่วงนาค

สถานการณ์สินค้าเกษตรไทยในปี 2558 ถือว่าตกอยู่ในภาวะไม่สู้ดีนัก เพราะแม้ผลผลิตน้อยเพราะมีปัญหาเรื่องน้ำ แต่กลับพบว่าราคาสินค้าไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น จนทำให้รายได้ภาคเกษตรของไทยที่เป็นคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างซบเซา กำลังซื้อของคนส่วนใหญ่จึงอับเฉา

สาเหตุหลักมาจากสินค้าเกษตรเหล่านั้นพึ่งการส่งออกในรูปวัตถุดิบและประเทศคู่ค้ามีปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งในปี 2559 จะมีปัญหาการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เข้ามาเป็นตัวแปรเพิ่มขึ้น

สุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% มูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท จากปี 2558 ที่หดตัวอยู่ที่ 4.2%

ปัจจัยที่ทำให้ภาคเกษตรกลับมาขยายตัวได้ในปี 2559 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว มีการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐ รวมถึงการลงทุนในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และคาดการณ์ว่าสถานการณ์ดินฟ้าอากาศจะไม่รุนแรงไปกว่าปีนี้

ขณะเดียวกัน ผลจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะทำให้ต้นทุนการผลิตไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อการส่งออกและคาดว่าจะส่งผลดีต่อภาคเกษตรในปี 2559

สาขาพืชจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 % จากปี 2558 ที่หดตัวลงไปกว่า 5.8% โดยคาดว่าผลผลิตข้าวปี 2558/2559 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 27-28 ล้านตันข้าวเปลือก จากปี 2557/2558 ที่มีปริมาณ 26 ล้านตันข้าวเปลือก เนื่องจากชาวนายังมีการปลูกต่อเนื่อง และราคาจะเป็นไปตามกลไกตลาดเนื่องจากไม่มีนโยบายแทรกแซงใช้ในประเทศประมาณ 9.5-10 ล้านตันข้าวเปลือก

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านประสบภัยแล้งเช่นกัน ทำให้ราคาข้าวปี 2559 คาดว่าจะปรับสูงขึ้นจากปี 2558 ตามกลไกตลาด ซึ่งในปี 2558 ราคาข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 1.28 หมื่นบาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 7,800 บาท/ตัน

สศก.ได้ติดตามถึงสถานการณ์การภัยแล้ง การผลิตและการตลาดข้าวของประเทศ โดยปี 2558พบว่า เนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2558/2559 รวมทั้งประเทศมีทั้งหมด 55.95 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2557 ปริมาณ 4.59 ล้านไร่ หรือ 8% เนื้อที่เก็บเกี่ยวรวม 53 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2557 ปริมาณ 4 ล้านไร่ 9% ผลผลิตรวม 22 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปี 2557 ปริมาณ 3.07 ล้านตันข้าวเปลือก 12%

สำหรับการผลิตข้าวนาปรังปี 2559 (ปีเพาะปลูก 2558/2559) ซึ่งเป็นข้าวที่ปลูกในช่วงเดือน พ.ย. 2558-เม.ย. 2559 คาดว่าจะปลูกประมาณ 6.5 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมา 2 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 4-5 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีที่ผ่านมา 1.3 ล้านตันข้าวเปลือก

ด้านการส่งออกปี 2559 คาดจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาภัยแล้งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวของประเทศคู่แข่งและคู่ค้าข้าวไทย

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้สินค้าเกษตรที่ต้องติดตามด้านราคาคือพืชที่เกี่ยวโยงกับพลังงาน คือ ปาล์มน้ำมัน อ้อย เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง

สศก.คาดว่าปาล์มน้ำมันจะมีผลผลิตประมาณ 11.68 ล้านตัน ราคาขายคาดว่าจะใกล้เคียงปี 2558 โดยหากราคาน้ำมันโลกยังผันผวนและลดลง คาดว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบจะอยู่ที่ 18-23 บาท/กก. และสต๊อกน้ำมันของไทยอยู่ในเกณฑ์สูงประมาณ 4 แสนตันจากสต๊อกมั่นคง 2.5 แสนตัน

นอกจากนั้น สินค้าปาล์มยังต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากราคาจากมาเลเซียผลิตได้มากกว่าและราคาถูกกว่าไทย

ขณะที่ยางพาราคาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 4.32 ล้านตัน พื้นที่ประมาณ 19.61 ล้านไร่ ราคาคาดว่าจะลดลงจากปี 2558 ที่อยู่ระหว่าง 40-43 บาท/กก.

เชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า คาดว่าผลผลิตยางพาราจะมีประมาณ 4 ล้านตัน ส่วนราคาเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก เนื่องจากขึ้นกับตลาดโลกที่มีการซื้อขายล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อ กยท.ยกเลิกการขายยางในสต๊อก 4 แสนตันให้กับทางการจีน คณะกรรมการบริหาร กยท.ได้มีการเตรียมตั้งคณะกรรมการระบายยางขึ้นมา 1 คณะ เพื่อจะได้ขายยางกันต่อไป และเชื่อว่าจะทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2558/2559 คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 4.7 ล้านตัน ลดลงจากปี 2557/2558 ผลิตได้ 4.8 ล้านตัน แต่คาดว่าจะมีความต้องใช้ปีละ 5.3 ล้านตัน เพิ่มจากปี 2558 ประมาณ 2แสนตัน

ด้านธุรกิจประมง สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย คาดว่า ผลผลิตกุ้งปี 2559  มีประมาณ 2.6 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 13%

ด้านการส่งออก จากข้อมูลการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค.-ต.ค.2558 อยู่ที่ 127,871 ตัน มูลค่า 44,256 ล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 ปริมาณลดลง 1.21% มูลค่าลดลง 14.43% ชี้ให้เห็นว่า ไทยสามารถรับมือและแก้ปัญหาโรคตายด่วน (EMS) ได้ดีขึ้น และปี 2559 ผลผลิตกุ้งจะดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่ผลผลิตกุ้งโลกมีแนวโน้มลดลง

ปี 2559 จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมกุ้งไทยอีกรอบ

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องเร่งแก้ปัญหาการกีดกันการค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องแรงงาน/แรงงานทาส เพราะจะเป็นประเด็นที่ถูกกดดันจากประเทศคู่ค้าด้วย