posttoday

มาตรการภาษีอาเซียนกับสินค้าเกษตร (จบ)

03 กุมภาพันธ์ 2561

ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว สัปดาห์นี้จะกล่าวถึงผลกระทบเมื่อสามารถลดภาษีสินค้า

 ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว สัปดาห์นี้จะกล่าวถึงผลกระทบเมื่อสามารถลดภาษีสินค้าเป็นศูนย์ได้ทุกรายการว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคเพียงใดโดยจะเปรียบเทียบกับการปรับปรุงการขนส่งทางบกและทางอากาศ

ผลกระทบเศรษฐกิจมหภาคจากการลดภาษีเป็นศูนย์เมื่อเทียบกับการปรับปรุงการขนส่งทางบกและทางเรือ เชษฐาอินทรวิทักษ์ นักวิชาการมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)วิเคราะห์ผ่านงานสัมมนา “แนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย” ว่าการลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศสามารถทำได้ 3 แนวทาง ได้แก่ การลดภาษีสินค้าต่างๆ ให้เป็นศูนย์ การปรับปรุงอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางเรือ และการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกการขนส่งทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา ลาว เวียดนาม และจีน พบว่าเมื่อลดอัตราภาษีเป็นศูนย์แล้ว ผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคน้อยกว่าการปรับปรุงการขนส่งทางบกและทางเรือ

แม้ว่าการลดภาษีเป็นศูนย์จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค แต่ประเทศในอาเซียนควรทลายกำแพงภาษีระหว่างกันให้มากที่สุดตามข้อตกลงการค้า เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในภูมิภาค เหตุผลที่การปรับปรุงการขนส่งสินค้าทางบกและทางเรือส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่า จากการศึกษาพบว่า เมื่อภาษีเป็นศูนย์ส่งผลให้จีดีพีในประเทศไทยโตขึ้น 0.133%หากปรับปรุงการขนส่งทางบก ส่งผลให้จีดีพีเติบโตขึ้น 0.348% และหากปรับปรุงการขนส่งทางเรือ ส่งผลให้จีดีพีโตขึ้น 0.68% จะเห็นว่าการปรับปรุงการขนส่งสินค้าส่งผลกระทบมากกว่าแต่หากดำเนินทั้ง 3 มาตรการจะทำให้จีดีพีเติบโตมากขึ้นถึง 1.16%

นอกจากนี้ นักวิชาการยังได้ศึกษาการลงทุนด้านการเกษตร กรณีศึกษาเวียดนาม พบว่า มีแรงจูงใจจากแนวโน้มประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน อีกทั้งเศรษฐกิจอยู่ในช่วงการเติบโต นอกจากนี้ภาครัฐได้ปรับเวลาการเช่าที่ดินให้นานขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมที่เข้าไปลงทุนในเขตที่รัฐสนับสนุน

ขณะที่อุปสรรคในการลงทุนด้านการเกษตรในเวียดนามพบว่า สิทธิการเช่าที่ดินไม่สามารถใช้ในการขอสินเชื่อได้ อีกทั้งการบังคับใช้มาตรฐานยังไม่เข้มงวด รวมถึงข้อจำกัดด้านความรู้ของเกษตรกรในพื้นที่ ประกอบกับค่าแรงมีแนวโน้มสูงขึ้น และนักลงทุนรายเล็กเข้ามาลงทุนได้ยากจึงจำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาซึ่งมีค่าธรรมเนียมสูง

ทั้งนี้ นักวิชาการได้เสนอแนะว่า ภาครัฐควรมีบทบาทในการสนับสนุนข้อมูลเช่น การแปลกฎระเบียบเป็นภาษาไทยและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในด้านต่างๆ เช่น การเขียนแผนธุรกิจอีกทั้งเมื่อสิทธิการเช่าที่ดินไม่สามารถขอสินเชื่อในเวียดนามได้ ภาครัฐไทยอาจให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) มีบทบาทในการคำประกัน