posttoday

ไทยแลนด์ 4.0 เอสเอ็มอีก้าวให้ทัน

09 ธันวาคม 2560

การที่ธุรกิจขนาดเล็กจะแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ ปัจจัยสำคัญคือ ทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องปรับตัวให้ทัน 4.0

โดย ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล 

การที่ธุรกิจขนาดเล็กจะแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ ปัจจัยสำคัญคือ ทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องปรับตัวให้ทัน 4.0 เพราะถ้าแรงงานของไทยยังขาดทักษะ หรือไม่สามารถตามเทคโนโลยีได้ทันแล้ว การลงทุนด้านนวัตกรรมที่ประเทศไทยหวังจะเพิ่มมูลค่าการผลิต อาจไหลเข้าไปเกิดในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่ยังมีความใหม่และสดในการอ้าแขนรับการลงทุนจากต่างชาติมากกว่าไทย ซึ่งนั่นจะทำให้การเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาย่อม (เอสเอ็มอี) ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ ดังนั้นการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะของเอสเอ็มอีจึงมีส่วนสำคัญ สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จึงได้จัดสัมมนาหัวข้อ “เอสเอ็มอีไทย ก้าวไปกับไทยแลนด์ 4.0” ขึ้นมา เพื่อเป็นเวทีรวมผู้เชี่ยวชาญเรื่องทรัพยากรมนุษย์มาให้ความรู้

เริ่มจาก ถาวร ชลัษเถียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ ที่แชร์มุมมองว่า ภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยไปรอดแน่นอน ถ้าเปลี่ยนแนวคิดและขยับให้เร็วขึ้น โดยการปรับคน (แรงงาน) ที่มีเทคโนโลยีที่ใช้ และจัดการอัจฉริยะให้มีประสิทธิภาพ ทว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีความสามารถในการจับเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์

อีกประเด็นน่าสนใจคือ การใช้แรงงานจากเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ในระบบประมาณ 3 ล้านคน อาจจะกลายเป็นปัญหาต่อภาคการผลิตของไทยในอนาคตได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจากกัมพูชาและเมียนมา เพราะแรงงานกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่กลับไปทำงานในประเทศตัวเองมากขึ้น หลังเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในประเทศมีการพัฒนา

ไทยแลนด์ 4.0  เอสเอ็มอีก้าวให้ทัน

“แรงงานเพื่อนบ้านเหล่านี้ สักวันก็ต้องกลับบ้านเกิดตัวเอง ถ้าหากแรงงานกลุ่มนี้หายไปครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 1.5 ล้านคนก็จุกแล้ว และยังเจออีกเด้งคือ โครงสร้างประชากรของไทยที่เปลี่ยนไป เด็กเกิดใหม่น้อยลง ทำให้กำลังคนวัยทำงานน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจจึงเป็นเทรนด์ที่เลี่ยงไม่ได้” ถาวร กล่าว

สุนทร เด่นธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวแมนิก้า มองในภาพใหญ่ว่า การปรับครั้งนี้จะเป็นโอกาสของเอสเอ็มอี จากแต่ก่อนที่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จะมีความได้เปรียบในด้านเงินทุน จึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนให้มาทำงานด้วย ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสมัยก่อนอยู่ได้แต่ไม่โต พอเกิดกระแสดิจิทัลอีโคโนมี และไทยแลนด์ 4.0 ขึ้นมา จึงทำให้เกิดกระแสสตาร์ทอัพขึ้นมาในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอี

“แม้ว่าสตาร์ทอัพจะเป็นเทรนด์ของโลก แต่สตาร์ทอัพเหล่านี้ยังขาดประสบการณ์ ทำให้ทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญต่อองค์กรมากที่สุด เพราะถ้าได้คนที่ไม่ใช่ก็จะกลายเป็นตัวถ่วง แต่ถ้าบริษัทไหนมีฝ่ายเฮชอาร์ที่สามารถทำหน้าที่เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ดีกับองค์กรได้ ก็จะยิ่งช่วยเสริมให้องค์กรโตขึ้น” สุนทร กล่าว

สอดคล้องกับงานวิจัยพฤติกรรมของแรงงานรุ่นใหม่ที่พบว่า มักจะไม่ค่อยทำงานอยู่กับองค์กรเดิมๆ นานเกิน 9 ปี และในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีกว่า 2,000 ล้านตำแหน่งงานทั่วโลกหายไป ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคาม เพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจไปเหตุนี้ ทั่วโลกจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น เพราะเป็น “ปลาเล็ก” ที่มีความคล่องตัวกว่าในการขยับขยาย เพื่อใช้เป็นหัวหอกในการขยายธุรกิจ