posttoday

ไทยเบอร์หนึ่ง พลังงานทดแทนอาเซียน

07 ตุลาคม 2560

ผลรางวัลอาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ด 2017 (ASEAN Energy Awards 2017)

โดย ปิยนุช ผิวเหลือง

ผลรางวัลอาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ด 2017 (ASEAN Energy Awards 2017) ปีล่าสุด ที่จัดขึ้น ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ไทยคว้ารางวัลด้านพลังงาน 19 รางวัล สูงที่สุดในภูมิภาค ครองแชมป์ผู้นำด้านพลังงานทดแทนในอาเซียน

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ในฐานะเจ้ากระทรวง ที่นำคณะไปครั้งนี้ บอกว่า อาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ด 2017 เป็นเวทีการประกวดด้านพลังงานสำหรับภาครัฐและเอกชนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปีนี้ไทยคว้าไปทั้งหมด 19 รางวัล แบ่งเป็นรางวัลด้านพลังงานทดแทน 9 ผลงาน รางวัลด้านการบริหารจัดการพลังงานดีเด่น 6 ผลงาน รางวัลด้านอาคารอนุรักษ์พลังงานดีเด่น 3 ผลงาน และรางวัลด้านอาคารเขียวดีเด่น 1 ผลงาน ขณะเดียวกันไทยได้รับรางวัล อาเซียน โคล อวอ์ด 2017 (ASEAN Coal Awards 2017) อีก 6 รางวัล

ขณะที่อินโดนีเซียครองอันดับ 2 โดยคว้าไปได้ 8 รางวัล ตามด้วยสิงคโปร์ 7 รางวัล มาเลเซีย 5 รางวัล ฟิลิปปินส์เจ้าภาพปีนี้คว้าไป 4 รางวัล และเมียนมา 1 รางวัล

พล.อ.อนันตพร บอกถึงเบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไทยมีกระบวนการคัดเลือกตัวแทนประกวดรางวัลอาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ด ผ่านเวทีไทยแลนด์ เอเนอร์จี อวอร์ด โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็น ผู้ดำเนินการ ซึ่งเหมือนเป็นเวทีเตรียมความพร้อมให้ โดยปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 262 ราย มีผู้ได้รับการคัดเลือกชนะการประกวด 66 ราย จากโครงการต่างๆ เป็นผลให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่า 420 ล้านบาท/ปี ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 2.9 แสนตัน/ปี

ทั้งนี้ งานอาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ด จะจัดขึ้นควบคู่กับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน (ASEAN Ministers on Energy Meetings - AMEM) ซึ่งมักจัดการประชุมหารือใน ช่วงเช้า และประกาศผลรางวัลอาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ด ในช่วงค่ำ โดยการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 36 ในปี 2561 จะส่งไม้ต่อให้สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ

ไทยเบอร์หนึ่ง พลังงานทดแทนอาเซียน

"การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของไทย ในแผนปฏิบัติการพลังงานอาเซียนที่ขณะนี้ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนในอาเซียน มุ่งสู่การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานระยะ 20 ปี (ปี 2558-2579 ) โดยเฉพาะแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (EEP 2015) และแผนพัฒนาพลังงาน ทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่ง ในการตอบโจทย์นโยบายพลังงาน 4.0" พล.อ.อนันตพร กล่าว

สำหรับแผนพัฒนาพลังงานของไทย มีเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่ 1.ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามข้อผูกพันของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ 2.ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 3.สร้างกลไกการแข่งขันไปสู่เสรีเพื่อราคาเป็นธรรม และ 4.การพัฒนาพลังงานชุมชนเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน นอกจากนี้เวทีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ยังกล่าวถึงเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 23% ภายในปี 2568 จากปัจจุบันอยู่ที่ 14%

ด้าน สุธี ผู้เจริญชนะชัย รอง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็ก ทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) บอกว่า NECTEC ได้ รับรางวัลชนะเลิศอาคารสร้างสรรค์ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน : อาคารปรับปรุง ซึ่งภายหลังปรับปรุงอาคารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สามารถลดการใช้พลังงานได้ 39.69%