posttoday

สนามบินเบตงดันการค้า

19 ธันวาคม 2560

ชาวยะลาคาดสนามบินเบตงกระตุ้นดุลการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียโต 20% สร้างรายได้ปีละ 3,600 ล้าน

ชาวยะลาคาดสนามบินเบตงกระตุ้นดุลการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียโต 20% สร้างรายได้ปีละ 3,600 ล้าน

นายดำรงค์ ดีสกูล นายอำเภอเบตง เปิดเผยว่า อ.เบตง จ.ยะลา เป็นหนึ่งในพื้นที่ของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อันประกอบด้วย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle หรือ IMT-GT) โดยการลงทุนเดินหน้าก่อสร้างสนามบินเบตง จะส่งผลให้ตัวเลขการค้าไทย-มาเลเซียบริเวณด่านชายแดนเบตงเพิ่มขึ้น ปัจจุบันด่านการค้าชายแดนเบตงเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่แห่งของประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากว่าปีละ 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่าหากสนามบินเปิดใช้งานจะส่งผลให้มูลค่าดุลการค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ประมาณ 3,600 ล้านบาท/ปี โดยเบตงเป็นพื้นที่ติดชายแดน รัฐเคดาห์มาเลเซีย การเปิดใช้สนามบินและช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางมากกว่าไปใช้สนามบินปีนัง ที่เดินทางประมาณ 90 กม. หากประชาชนรัฐเคดาห์มาใช้สนามบินเบตง เชื่อมั่นว่าทำให้เศรษฐกิจเบตงเติบโต เพราะเบตงเป็นเมืองที่มีความพร้อมด้านแหล่งท่องเที่ยว อากาศ อาหาร ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเบตง

“อ.เบตง ได้รับงบประมาณมาดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างสกายวอล์กที่ยาวที่สุดในเอเชีย ก่อสร้างบริเวณจุดท่องเที่ยวอัยเยอร์เวงและหลักเขตจำลอง 54a ใต้สุดสยาม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562” นายดำรงค์ กล่าว

นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผวจ.ยะลา กล่าวว่า อ.เบตง เป็นหนึ่งในโครงการเศรษฐกิจสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่เมืองที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานอย่างสนามบินมีความพร้อมให้บริการ จะทำให้เกิดการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของ จ.ยะลา โดยเฉพาะการขนส่งด้านโลจิสติกส์ และนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน/ปี ช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของจังหวัด 10% จากปัจจุบันมีรายได้ 4.7 หมื่นล้านบาท/ปี รองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นจากปีละ 6 แสนคน เป็น 1 ล้านคน/ปี คิดเป็นอัตราเติบโต 66% และมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 4,000 ล้านบาท/ปี

นายอนุชิต กล่าวว่า เมืองที่พึ่งพาตนเองได้จะนำไปสู่การลดปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตนเชื่อว่าหากตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้นเม็ดเงินจะกระจายลงสู่ท้องถิ่นทำให้ประชาชนมีหน้าที่การงานและรายได้ในการเลี้ยงชีพ ซึ่งหากสามารถทำให้ทุกคนอิ่มท้องและมีความสุขในชีวิตได้ ก็จะมีโอกาสไปทำเรื่องเลวร้ายลดลงและสร้างทัศนคติที่ดีขึ้น ในการมองเห็นความสำคัญของสังคมที่อาศัยและผู้คนรอบข้าง

ภาพประกอบข่าว