posttoday

ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โอกาสทองของไทยในภูมิภาค

27 เมษายน 2560

ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น จากกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ 2 กลุ่มหลัก

โดย...ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ |EIC

ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์  (Medical Tourism) มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น จากกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ต้องการการรักษาพยาบาลในราคาที่ถูกกว่าและกลุ่มที่ต้องการคุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า โดยในปี 2560 การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลกมีมูลค่าตลาดราว 2.9 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

จากการจัดอันดับของ The Inter national Healthcare Research Center (IHRC) พบว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยติดอันดับ 6 ของโลก เนื่องจากมีค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่าหลายประเทศ และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

ปัจจุบันไทยเป็นศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพหลักของเอเชีย มีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากที่สุดถึงราว 38% ของภูมิภาคเอเชียทั้งหมด และตลาดมีแนวโน้มเติบโตราว 14% ต่อปี สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยซึ่งอยู่ที่ราว 12% ต่อปี และคาดว่าในปีนี้ไทยจะมีจำนวนผู้ป่วยต่างชาติถึง 4 ล้านคน สะท้อนให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง

ในปัจจุบันไทยมีจํานวนสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล JCI (Joint Commission International Accreditation) มากที่สุดในเออีซีถึง 56 แห่ง และมากเป็นอันดับ 4 ของโลกอีกด้วย อีกทั้งโรงพยาบาลเอกชนของไทยยังติดอันดับ 1 ใน 10 สถานพยาบาลยอดเยี่ยมระดับโลกสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นอกจากนี้ค่ารักษาพยาบาลในไทยยังถูกกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ โดยเฉลี่ยราว 2 และ 3 เท่า ตามลำดับ ปัจจัยหนึ่งจูงใจนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์

ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เดินทางมาไทยจะนิยมใช้บริการตรวจสุขภาพ การศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม การรักษาโรคเฉพาะทาง ผลสำรวจของ Global Wellness Institute พบว่ารูปแบบการบริการด้านความงาม และศัลยกรรมเป็นบริการที่นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มองหามากที่สุด โดยไทยมีชื่อเสียงด้านศัลยกรรมเป็นอันดับ 8 ของโลก

การเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนมีรายได้จากการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติราวปีละ 7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.01% ของจีดีพี ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนได้เตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากขึ้น อีกทั้งยังมีนโยบายในการขยายฐานตลาดใหม่ๆ โดยได้ขยายระยะเวลาพำนักในไทย เพื่อการรักษาพยาบาลสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและผู้ติดตามในกลุ่มซีแอลเอ็มวี และจีน เพิ่มขึ้นจาก 60 วันเป็น 90 วัน จากเดิมที่มีนโยบายขยายระยะเวลาเฉพาะในกลุ่มตลาดตะวันออกกลาง

แม้ว่าไทยจะได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพหลักของเอเชีย แต่ทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียก็มีนโยบายผลักดันประเทศให้เป็นศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน ดังนั้นการจะรักษาการเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพหลักของเอเชียได้นั้น บุคลากรทางการแพทย์และการท่องเที่ยวของไทยควรรักษามาตรฐานในการบริการ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพิ่มความเชี่ยวชาญการรักษาโรคเฉพาะทางมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้า เพิ่มสัดส่วนตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ จะทำให้ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างยั่งยืน