posttoday

เวียดนามกีดกันนำเข้ารถ ผู้ผลิตเบรกส่งออกบี้รัฐแก้

03 กุมภาพันธ์ 2561

ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศร้องรัฐเร่งแก้เวียดนามใช้มาตรการกีดกันนำเข้ารถที่ไม่ใช่ภาษี ลุ้นกระทบระยะสั้น

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

ในช่วงที่ผ่านมากระแสที่น่าจับตาในอุตสาหกรรมยานยนต์คงหนีไม่พ้นการออกมาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ของประเทศเวียดนาม โดยได้ออกกฎหมายมาตราที่ 116 / 2017 / ND-CP ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการออกเอกสารรับรองรถยนต์นำเข้าจากประเทศผู้ส่งออก และการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ใหม่ที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศเวียดนามที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 และบังคับใช้จริงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561

เนื้อหาในกฎหมายดังกล่าว บังคับให้ผู้นำเข้าต้องเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ การนำเข้ารถยนต์ทุกล็อตต้องมีการสุ่มตรวจคุณภาพรถยนต์ก่อนที่จะนำมาวางจำหน่ายในประเทศได้ รถยนต์จะต้องมีการรับประกันตามระยะเวลาที่กำหนด และผู้นำเข้าจะต้องมีศูนย์ซ่อมที่มีมาตรฐานเป็นของตนเองหรือมีการทำสัญญากับศูนย์ซ่อมที่ได้มาตรฐานอื่นๆ

นอกจากนี้ ผู้นำเข้ายังต้องได้เอกสารรับรองต่างๆ ทั้งจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์เข้ามายังเวียดนาม และจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของเวียดนาม ซึ่งข้อบังคับต่างๆ เหล่านี้ส่งผลทำให้การนำเข้ารถยนต์ของเวียดนามมีความยุ่งยากมากขึ้นในด้านเอกสาร ต้องเสียเวลานานขึ้นในการตรวจสอบคุณภาพก่อนวางจำหน่าย รวมถึงยังต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการตรวจคุณภาพและการออกเอกสารกำกับต่างๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเทศเวียดนามแม้สัดส่วนส่งออกจากยอดรวมการส่งออกรถยนต์จากไทยจะไม่มาก ไม่ใช่ประเทศหลักการส่งออกรถเมื่อเทียบกับประเทศ อื่นๆ แต่การออกมาตรการควบคุมดังกล่าวน่าสนใจ เพราะก่อนจะมีการเปิดเสรีเขตเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ได้มีการทำข้อตกลงทางการค้าซึ่งเป็นการทำความเข้าใจในข้อตกลงดังกล่าวของทุกประเทศ โดยใช้เวลาเจรจากันมานานกว่า 50 ปี ซึ่งเหตุการณ์นี้แน่นอนว่าจะมีผลต่อประเทศไทยอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย ในฐานประเทศผู้ผลิตเพื่อการส่งออก

พิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทติดตามสถานการณ์มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอากรในเวียดนาม ซึ่งยอมรับว่าอาจจะกระทบด้านส่งออกของบริษัทจากไทยไปประเทศดังกล่าวในระยะสั้น

บริษัท ฮอนด้า มีการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศดังกล่าวไม่เกิน 5% ของสัดส่วนการส่งออกรวมของบริษัท หรือมีจำนวนราว 2,000-3,000 คัน ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

"สำหรับประเด็นดังกล่าว ขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะต้องปรับเปลี่ยนหรือเคลื่อนย้ายการผลิตในส่วนดังกล่าวจากประเทศไทยไปยังประเทศเวียดนาม แม้ว่าบริษัทจะมีฐานผลิตอยู่ในประเทศดังกล่าวก็ตาม โดยคาดหวังให้การเจรจาในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลได้ข้อสรุปโดยเร็ว" พิทักษ์ กล่าว

โมริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทได้ทำการหยุดการส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศเวียดนามชั่วคราวซึ่งมีจำนวนหลักร้อยคัน โดยมองว่าจะไม่มีผลกระทบมากนักต่อภาพรวมการส่งออกของบริษัท

ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทจะมีโรงงานผลิตรถยนต์อยู่ในประเทศเวียดนาม แต่บริษัทมองว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายการผลิตเพื่อผลิตและจำหน่ายในประเทศดังกล่าว

ด้าน อัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เปิดเผยว่า ความเข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานการส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยไปยังเวียดนาม ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลและต้องจับตามอง เพราะหากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ตัดสินใจยกเลิกการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวอาจส่งผลต่อปริมาณการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยไปประเทศดังกล่าวปีละ 6-7 หมื่นคัน/ปี

ธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า ประเทศไทยควรมีมาตรการป้องกันการถูกเอาเปรียบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอากรของประเทศเวียดนาม เนื่องจากข้อตกลงของการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มีการกำหนดมาตรฐานกลางไว้อย่างชัดเจน

"น่ากังวลหากเวียดนามสามารถสร้างมาตรฐานขึ้นใหม่ได้ และจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นทำตาม ปัจจุบันปริมาณการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของประเทศไทยไปยังประเทศดังกล่าวอยู่ที่ 3 หมื่นคัน/ปี อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกในปริมาณดังกล่าว" ธนวัฒน์ กล่าว

ขณะที่ประเด็นความกังวลของภาคการผลิตเพื่อการส่งออกถึงผล กระทบจากเงินบาทแข็งค่า มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงตามที่หลายฝ่ายกังวล เนื่องจากปริมาณความต้องการเมื่อเทียบกับมูลค่ายังส่งผลดีอย่างต่อเนื่องถึงอัตราเติบโต โดยประเทศสหรัฐ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ยังเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกสำคัญที่ได้รับผลดีจากเศรษฐกิจฟื้นตัว

แต่ประเด็นดังกล่าวยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างจับตาเนื่องจากมูลค่าการส่งออกจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งอาจมีผล กระทบต่อมูลค่าการส่งออก ดังนั้นจึงอาจต้องมีการเพิ่มปริมาณการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศใหม่ หรือมิเช่นนั้นคงต้องมาโฟกัสตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น

ปัจจัยเหล่านี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต่างฝ่ายต่างกังวลและอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะสถานการณ์ในประเทศเวียดนามที่ต้องพึ่งพาการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เพื่อหาข้อสรุปโดยเร็ว ด้วยความหวังในการหาทางออก