posttoday

มาสด้าลงทุน7พันล. เพิ่มผลิตเครื่องยนต์

20 มกราคม 2561

มาสด้า มอเตอร์ ทุ่ม 7,200 ล้าน ผุดโรงงานผลิตเครื่องยนต์แห่งใหม่ ดันกำลังผลิตเพิ่ม 2 เท่าตัว เป็นปีละ 1 แสนเครื่อง

มาสด้า มอเตอร์ ทุ่ม 7,200 ล้าน ผุดโรงงานผลิตเครื่องยนต์แห่งใหม่ ดันกำลังผลิตเพิ่ม 2 เท่าตัว เป็นปีละ 1 แสนเครื่อง

นายมาซามิชิ โคไก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า บริษัทใช้เงินลงทุนมูลค่า 2.21 หมื่นล้านเยน (ราว 7,200 ล้านบาท) ในการก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องยนต์มาสด้า พาวเวอร์เทรน แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย เพื่อผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ใหม่ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบเครื่องยนต์จากไลน์การผลิตเป็น 1 แสนเครื่อง/ปี จากเดิม 3 หมื่นเครื่อง/ปี

โรงงานแห่งนี้จะเริ่มการผลิตเครื่องยนต์สกายแอ็กทีฟ 2.0 ลิตร เพื่อส่งออกไปยังโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศมาเลเซีย เวียดนาม รวมทั้งป้อนให้กับโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งช่วยเพิ่มกระบวนการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยให้ครบวงจรมากที่สุด ทั้งเครื่องยนต์ เกียร์ และรถยนต์

"โรงงานมาสด้าพาวเวอร์เทรนแห่งนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบการผลิตยานพาหนะอย่างครบวงจรในประเทศไทย และเพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งของขอบข่ายการผลิตเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของส่วนประกอบยานพาหนะทั้งหมด จะช่วยให้เราส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้าตรงต่อเวลามากยิ่งขึ้น จากนี้ต่อไปเราจะมุ่งให้ความใส่ใจในการผลิตรถยนต์ ที่มีคุณภาพสูง" นายโคไก กล่าว

สำหรับการเติบโตของมาสด้าทั่วโลกเติบโตเฉลี่ย 3% โดยยอดขายในสหรัฐเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 แสนคัน/ปี ประเทศญี่ปุ่นฉลี่ยอยู่ที่ 2 แสนคัน ยุโรปเฉลี่ยอยู่ที่ 1 แสนคัน ขณะที่อาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นายฮิโรชิ อิโนะอุเอะ เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวเสริมว่า ภายใน 4-5 ปีจากนี้ ยอดขายรถยนต์มาสด้าภายในภูมิภาคอาเซียนจะมีอัตราเติบโตไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าจากปัจจุบัน และในประเทศไทยจะมีอัตราเติบโตไม่น้อยกว่า 2 เท่า ซึ่งการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้านั้น บริษัทมองว่าแหล่งที่มาของการผลิตไฟฟ้าของแต่ละประเทศยังแตกต่างกันและอาจจะยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ในปริมาณมาก ซึ่งยังไม่ใช่พลังงานสะอาด ประกอบกับปริมาณความต้องการไฟฟ้าหากมีรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอาจจะกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน

ขณะที่นายคิโยทากะ โชบุดะ ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงผลของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในไทยว่า มาสด้ามองการรักษาการแข่งขัน ไม่ได้มองเรื่องแรงงานถูก มองการพัฒนากระบวนการผลิต ประสิทธิภาพในการผลิตเป็นหัวใจในการรักษาระดับการแข่งขันของมาสด้า ซึ่งแนวทางพัฒนาให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งประกอบรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และมีเครือข่ายในการทำงาน ดังนั้นในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ จึงไม่มีผลกระทบกับบริษัทแต่อย่างใด ยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ตามแผน

ภาพประกอบข่าว