posttoday

'นินนาท ไชยธีรภิญโญ' มองทิศทางรถยนต์ไฟฟ้า

20 มกราคม 2561

"นินนาท ไชยธีรภิญโญ" บิ๊กโตโยต้า เปิดมุมมองทิศทางพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีในไทยจะไปทางไหน

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นที่จับตามองของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในประเทศ ไทยว่าจะมีความพร้อมของตลาด และเป็นฐานการผลิตได้มากน้อย เพียงใด

วันนี้ "โพสต์ทูเดย์" ขอนำเสนอมุมมองของ นินนาท ไชยธีรภิญโญประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ต่อเรื่องดังกล่าวที่ได้นำเสนอบนเวที "Make the Future Thailand" จัดขึ้นโดยบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย

คำถาม : มีคนชอบมาถามในมุมของโตโยต้า ว่าเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะมาเมื่อไร

นินนาท : เทคโนโลยีดังกล่าว จะมาเมื่อไรนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับ ทุกภาคส่วนร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน โดยระบบไฟฟ้าจะต้องเพียงพอต่อความต้องการทั้งในภาคครัวเรือน และภาครถยนต์ ซึ่งมองว่าเราจะต้องมีศูนย์กลางหนึ่งแห่งที่คอยติดตาม (มอนิเตอร์) ปริมาณความต้องการ และจัดสรรให้เหมาะสม

คำถาม : ต่อมาจะมีคนถามว่า แนวโน้มยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ไทยและของโลกมีความท้าทาย อย่างไร

นินนาท : ผมเองมองอย่างนี้ว่าปัจจุบันที่ยานยนต์ไฟฟ้ายังไม่เกิดขึ้น ในประเทศไทยอยู่ที่ปัจจัยราคารถยนต์ยังสูงอยู่ ประกอบกับการเก็บประจุ ไฟฟ้าของแบตเตอรี่ยังเก็บไฟฟ้าได้ น้อย ส่งผลให้ระยะทางวิ่งต่อการชาร์จ 1 ครั้งต่ำอยู่ รวมถึงสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยังไม่กระจายครอบคลุม

คำถาม : อีกคำถามยอดฮิต คือยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยควรไปทางไหน

นินนาท : จะไปทางไหนนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการสนับสนุนของรัฐบาลซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางที่สำคัญ ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าว่าจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากน้อยขนาดไหน รวมถึงระดับราคารถยนต์ที่จะ ต้องเป็นเจ้าของได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม 3 คำถามดังกล่าวเป็นคำถามที่ส่วนตัวพบเจออยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหากพิจารณาถึงรายละเอียดเปรียบเทียบกับในต่างประเทศที่ข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถามการวิจัยพบว่ากว่า 50% มีข้อกังวลถึงระดับราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าที่สูงอยู่ในปัจจุบัน ประกอบกับอีกประเด็นหนึ่งคือ ระยะทางการวิ่งต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจ ยกตัวอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ มี ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพียง 8-10% ของปริมาณผู้ซื้อรถยนต์เท่านั้น

ทั้งนี้ เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าเป็น เทรนด์เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต เนื่องจากประชาคมโลก คำนึงถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามสนธิสัญญาที่จะลดการปล่อย Co2 ลง 20% ภายในปี 2573 โดยมีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ภายในปี 2583 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 35% ของปริมาณการขายรถยนต์ทั่วโลก

นอกจากนั้น สิ่งที่โลกกำลังเผชิญคือการเพิ่มขึ้นของปริมาณประชากรโลกที่มีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น เป็นราว 1 หมื่นล้านคนภายในปี 2593 จากปัจจุบันอยู่ที่ 7,000 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการทรัพยากรต่างๆ บนโลกเพิ่มขึ้น รวมถึงการปล่อย Co2 ที่เพิ่มขึ้นตาม ซึ่งสิ่งแวดล้อมของโลกจะได้รับผลกระทบตามมา

ขณะที่โตโยต้าจึงมีแผนการลด การปล่อย Co2 ทั่วโลกลง 90% ใน ปี 2593 ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ ดังนั้นบริษัทจึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรทาง ธุรกิจระหว่างโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอ เรชั่น กับ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และ เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น ภายใต้ชื่อบริษัท อีวี คอมมอน อาร์คิเท็คเชอร์ สปิริต เพื่อพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า รูปแบบต่างๆ พร้อมทั้งร่วมมือกับ พานาโซนิค ในการพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับปัจจุบัน โตโยต้ามุ่งเน้นในเทคโนโลยีไฮบริด ซึ่งเป็นคอมมอน แพลตฟอร์ม ในการพัฒนารถยนต์ ของโตโยต้า และอีกหนึ่งเทคโนโลยี ที่โตโยต้าวิจัยและพัฒนาคือ ไฮโดรเจน ขณะที่ประเด็นสำคัญในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามาจากต้นทุนของแบต เตอรี่ที่สูงกว่า 15 เท่า เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฮบริด หรือมีต้นทุนแบตเตอรี่ คิดเป็น 30-40% ของราคารถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงน้ำหนักของแบตเตอรี่ที่มีขนาดและน้ำหนัก 30-40% ของ ตัวรถด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ โตโยต้าในระดับโลกยังมีการตั้งโตโยต้า สมาร์ท เซ็นเตอร์ หน่วยงานที่เก็บข้อมูลประมวลผล จากการติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะภายในรถยนต์โตโยต้า จากนั้นจะมีการโอนถ่ายข้อมูลกลับไปยังศูนย์ดังกล่าวเพื่อประมวลผลเพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบริการหลัง การขาย การประสานงานให้ข้อมูลตรวจสอบ การอัพเดทข้อมูลการจราจร การเก็บข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเก็บข้อมูลพฤติกรรม ผู้ขับขี่ ซึ่งถือเป็น โกลบอล คอมมูนิเคชั่น แพลตฟอร์ม ที่วางแผนเปิดตัวภายในปี 2564 ส่วน โตโยต้า ในประเทศไทย จะทยอยดำเนินการตามแผนดังกล่าวอย่างเป็นขั้นตอนตามความเหมาะสมของตลาด

ดังนั้น ในมุมมองโตโยต้า มองการแบ่งประเภทของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตดังนี้ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ควรจะเป็นรถยนต์ที่มีขนาดเล็กและมีระยะทางในการเดินทางต่อครั้งสั้น ส่วน รถยนต์ไฮบริดหรือปลั๊ก-อิน ไฮบริด ควรจะเป็นรถยนต์ขนาดกลางที่มีระยะทางในการเดินทางต่อครั้งไกล ขณะที่รถยนต์ฟิวเซลล์ ควรจะเป็นรถขนส่งสาธารณะหรือรถขนส่งสินค้าที่ต้องการพลังงานในการขับเคลื่อน

ด้านแหล่งพลังงานที่นำมาใช้ในยานยนต์ควรเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ เนื่องจากในแต่ละประเทศการผลิตพลังงาน ไฟฟ้ามีต้นกำเนิดของการผลิตที่ แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ในประเทศ นอร์เวย์ ที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่าง แพร่หลาย มีการผลิตไฟฟ้าจากน้ำ ซึ่งพลังงานที่ได้จึงเป็นพลังงานสะอาดเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ประเทศดังกล่าวจึงเหมาะสมกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพราะเมื่อคิดย้อนกลับถึงการปล่อย Co2 จะมีปริมาณต่ำทั้งกระบวนการ

จากมุมมองดังกล่าวถือเป็นตัวสะท้อนทิศทางของโตโยต้า ในการเดินหน้าขานรับนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้อย่างชัดเจน