posttoday

รถยนต์ใช้น้ำมันอิ่มตัว! คนหันใช้รถพลังงานไฟฟ้า

27 มกราคม 2562

บีเอ็มฯ ชี้จุดตัดการเติบโตระหว่างรถยนต์กลุ่มไฟฟ้ากับรถเครื่องสันดาปภายใน ส่งสัญญาณชัดเจน

บีเอ็มฯ ชี้จุดตัดการเติบโตระหว่างรถยนต์กลุ่มไฟฟ้ากับรถเครื่องสันดาปภายใน ส่งสัญญาณชัดเจน

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยูกรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ทิศทางของตลาดรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในของปี 2562 เริ่มถึงจุดอิ่มตัว จากการเก็บข้อมูลของบริษัทพบว่า จุดตัดการเติบโตระหว่างเครื่องยนต์สันดาปภายในกับเทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริด และไฮบริด ถึงจุดที่เห็นแนวโน้มอย่างชัดเจน

ขณะที่การเติบโตของเทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริด และไฮบริด ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความต้องการของเทคโนโลยีดังกล่าว ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าได้ในอนาคต

ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองด้านระยะทางในการเดินทางที่เพิ่มขึ้นของแบตเตอรี่หลังจากนี้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รวมถึงการสนับสนุนของภาครัฐจะส่งผลให้ตลาดมีการเติบโตอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น

นายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมาคมอยากเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนภาคประชาชนผู้ซื้อรถอีวีให้สามารถนำไปหักภาษีบุคคลประจำปี หรือการสนับสนุนด้านราคารถอีวี เพื่อสร้างความต้องการให้เกิดตลาดขึ้น ด้วยสิทธิประโยชน์พิเศษด้านต่างๆ

“เหตุผลที่รถอีวีในต่างประเทศได้รับความนิยมมาจากราคาจำหน่ายไม่แตกต่างจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน” นายยศพงษ์ กล่าว

ด้านการเปิดรับผู้สมัครการส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในส่วนของเทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริด และรถอีวี ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่สิ้นสุดไปในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมยื่นใบสมัครจำนวนกว่า 20 ใบ ซึ่งภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดของบีโอไอที่จะต้องมีการผลิตรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการภายใน 3 ปี หลังจากได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเชื่อว่าผู้ผลิตที่เข้าร่วมโครงการจะแนะนำผลิตภัณฑ์ลงสู่ตลาดในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ด้านโครงสร้างพื้นฐานและการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า ในปัจจุบันนี้ถือว่าได้รับความร่วมมือจากโอเปอเรเตอร์รายต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการหาข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสูงสุดในการใช้บริการ

นายวิเวก ไวทยะ ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน กล่าวว่า ประเทศไทยถือได้ว่ามีความชัดเจนด้านนโยบายในการดึงดูดนักลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือได้ว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุด เนื่องจากมีการเปิดให้มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการร่างกฎ