posttoday

รถบรรทุกรับอานิสงส์ดันลงทุนรัฐรับเลือกตั้ง

15 กันยายน 2561

ผู้ผลิตรถบรรทุกชี้สัญญาณบวกตลาดโตเกินคาดจากปัจจัยบวกหนุนความต้องการรถบรรทุก จับตาในภูมิภาคอาเซียน

โดย...ทีมข่าวรถยนต์โพสต์ทูเดย์
        
ไทยถือเป็นตลาดหลักที่สำคัญของตลาดรถบรรทุก ด้วยเมกะโปรเจกต์ การลงทุนโครงการที่สำคัญของภาครัฐ ซึ่งเร่งเข็นออกมาเมื่อการเลือกตั้งเริ่มชัดเจนมากขึ้น รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่สนับสนุนให้ภาคเอกชนเชื่อมั่นลงทุนประเทศไทยจะกลับมาโชติช่วงชัชวาลได้อีก

กำลาภ ศิริกิตติวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) และประธาน ยูดี ทรัคส์ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถบรรทุก วอลโว่ ทรัคส์ และยูดี ทรัคส์ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดรถบรรทุกในประเทศไทยปี 2561 มีแนวโน้มเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี จากปัจจัยการลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล (เมกะโปรเจกต์) ที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในทุกเซ็กเมนต์ ฟื้นตัว ทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง การส่งออก รวมถึงภาคเกษตร ซึ่งส่งผลดีต่อเนื่องไปยังความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีมีการคาดการณ์ว่า ภาพรวมตลาดรถบรรทุกในปีนี้ จะเติบโตขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาพรวมตลาดรถบรรทุก 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) มีอัตราเติบโตขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเชื่อว่าในปีนี้ตลาดรถบรรทุกมีสัญญาณที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยจะต้องจับตาปัจจัยในช่วงสุดท้ายของปีอีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร

สำหรับยอดขายรวมของบริษัท 7 เดือน แบ่งเป็น วอลโว่ ทรัคส์ อยู่ที่ 150 คัน ลดลง 10% จากปีก่อนที่ 175 คัน เนื่องจากตลาดรถบรรทุกขนาด เล็กที่ไม่ได้รับความนิยมทำให้มีสัดส่วนน้อยลง ส่วน ยูดี ทรัคส์ ในช่วงเวลาเดียวกัน อยู่ที่ 480 คัน เติบโตขึ้น 17% จากปีก่อนอยู่ที่ 410 คัน

ขณะที่แผนการตลาดจากนี้บริษัทจะขยายสู่ตลาดผู้ให้บริการด้านขนส่งโดยเฉพาะในตลาดอาเซียน เน้นกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีมากขึ้น เพื่อรองรับธุรกิจการขนส่งข้ามพรมแดนที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดการณ์ว่าปริมาณการค้าของกลุ่มประเทศในอาเซียนจะมีการเติบโตสูงกว่า 130% ในปี 2566

ฌาคส์ มิเชล ประธาน บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป ทรัคส์ เอเชีย และเจวีเอส เซลส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา วอลโว่ กรุ๊ป ได้ลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ในการขยายกำลังการผลิตในโรงงานประกอบรถบรรทุก ยูดี ทรัคส์ เป็น 2 หมื่นคัน/ปี ในประเทศไทย เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกไปทั่วโลก

"ภาพรวมตลาดรถบรรทุกในภูมิภาคอาเซียนมีทิศทางการเติบโต จากปัจจัยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในหลายประเทศทั้งในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ บริษัทจึงมองเห็นโอกาสในการขยายตลาดไปยังประเทศในกลุ่มดังกล่าวเพื่อให้บริการกับลูกค้าที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจ" มิเชล กล่าว

ด้าน ซาช่า ริคาเน็ค ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดมเลอร์ คอมเมอร์เชียล วีฮีเคิลส์ (ประเทศไทย) หรือดีซีวีที กล่าวว่า ภาพรวมตลาด รถบรรทุกในประเทศไทยในปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6 หมื่นคัน เติบโตขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.5 หมื่นคัน และจะทยอยเติบโตขึ้นตามลำดับจากปัจจัยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ (เมกะโปรเจกต์) และการเติบโตของการขนส่ง (โลจิสติกส์)

สำหรับแผนการขยายเครือข่าย ผู้จำหน่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 24 แห่งภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันมีจำนวน 12 แห่งทั่วประเทศ ส่วนยอดขายปี 2561 บริษัทคาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวจากปีก่อนที่อยู่ที่ 191 คัน ซึ่งยอดขาย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 300 คัน

"กลยุทธ์ทางการตลาดของ เดมเลอร์ทั่วโลกในการรวมธุรกิจรถบรรทุกแบรนด์ฟูโซ่และเมอร์เซเดส-เบนซ์ เข้าไว้ด้วยกันภายใต้บริษัท ดีซีวีที จึงได้มีการลงทุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อ ผู้บริโภคชาวไทย" ริคาเน็ค กล่าว

ไมเคิล เคมเปอร์ รองประธานอาวุโส หัวหน้าฝ่ายการตลาด การขาย และการบริการลูกค้ารถบรรทุกในภูมิภาคเอเชียของ มิตซูบิชิ ฟูโซ่ ทรัคแอนด์บัส คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปี 2561 บริษัทใช้เงินลงทุนมูลค่า 450 ล้านบาท ตั้งโรงงานประกอบรถบรรทุกในประเทศไทยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 4,000 คัน/ปี เพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก โดยตั้งอยู่ในอีอีซี ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2562 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นตลาดหลักในยุทธศาสตร์ด้วยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อขยายสู่ตลาดอื่นทั่วโลก ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในประเทศไทย โดยระยะแรกโรงงานนี้จะประกอบรถบรรทุกขนาดใหญ่แบรนด์ ฟูโซ่ รุ่น FJ2528C เป็นอันดับแรก

"แผนการดำเนินงานของบริษัท แบ่งออกเป็น 3 เฟส ได้แก่ การลงทุนสร้างโรงงานประกอบในประเทศไทย การขยายเครือข่ายผู้แทนจำหน่าย และการส่งออก ถ้าหากในประเทศไทยได้รับการตอบรับที่ดีของตลาดและประสบความสำเร็จจะมีการมองการขยายไปยังตลาดอื่นๆ" เคมเปอร์ กล่าวทิ้งท้าย

สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การขนส่ง และการลงทุนของประเทศไทย สะท้อนผ่านปริมาณความต้องการของรถบรรทุกที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยหลังจากนี้ต้องติดตามการเติบโตในระดับภูมิภาคโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐาน ส่งออกจะเพิ่มกว่าคาดแค่ไหน