posttoday

ค่าย "ซูซูกิ" ถอนลงทุนจีน เจอพิษยอดขายรถคันเล็กร่วง

05 กันยายน 2561

ซูซูกิขายหุ้นกิจการร่วมค้าแห่งสุดท้ายในจีน หนีผู้บริโภคหันซื้อรถใหญ่ เน้นตลาดอินเดียเต็มตัว

ซูซูกิขายหุ้นกิจการร่วมค้าแห่งสุดท้ายในจีน หนีผู้บริโภคหันซื้อรถใหญ่ เน้นตลาดอินเดียเต็มตัว

บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า บริษัทตกลงขายหุ้น 50% ในบริษัท ฉางอัน ซูซูกิ กิจการร่วมค้าแห่งสุดท้ายในจีน ให้กับบริษัท ฉงชิ่ง ฉางอัน ออโตโมบาย ซึ่งเท่ากับว่าซูซูกิจะไม่เหลือธุรกิจในจีนอีกต่อไปแล้ว หลังจากที่ผู้บริโภคจีนนิยมซื้อรถซีดานขนาดใหญ่และรสเอสยูวีมากขึ้น

“เมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว เราเปิดตัวรุ่นอัลโตในจีน และเราพยายามขยายตลาดจีน แต่กระแสตลาดจีนที่หันไปหารถยนต์ขนาดใหญ่ ทำให้เราตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดให้ฉางอัน” โอซามุ ซูซูกิ ประธานซูซูกิ ระบุในแถลงการณ์

ก่อนหน้านี้ ซูซูกิเพิ่งยุติการกิจการร่วมค้าอีกแห่งในจีนกับเจียงซี ฉางเฮ่อ ออโตโมบาย ในเดือน มิ.ย. สิ้นสุดการเป็นพันธมิตรมานานกว่า 23 ปี

ขณะที่บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ รายงานว่า ยอดขายของซูซูกิ ฉางอัน ลดลง 27% เมื่อปีที่แล้ว แม้ซูซูกิเปิดตัววีทาร่า และเอส ครอส รถยนต์เอสยูวี 2 รุ่น เพื่อพยายามกอบกู้ยอดขายในจีนก็ตาม

นอกจากนี้ ซุยตงชู เลขาธิการของสมาคมรถยนต์โดยสารจีน เปิดเผยว่า ส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ขนาดเล็กในจีนอยู่ที่ 6.7% ในปี 2017 ลดลงจาก 35% ในปี 2003 เนื่องจากคนจีนหันไปสนใจรถยนต์ขนาดใหญ่ เป็นผลมาจากกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การถอนตัวออกจากตลาดจีน เกิดขึ้นหลังจากซูซูกิออกจากตลาดสหรัฐ ในปี 2012 หมายความว่าซูซูกิไม่มีธุรกิจในตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกทั้งสองแห่ง

อย่างไรก็ดี บลูมเบิร์กรายงานว่า ซูซูกิจะหันไปเน้นตลาดอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของบริษัทแทน เนื่องจากรถยนต์แบรนด์ มารูติ ซูซูกิ ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 50% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในอินเดีย ซึ่งมีประชากรกว่า 1,200 ล้านคน

ทั้งนี้ ซูซูกิ ตั้งเป้ากระตุ้นยอดขายรถยนต์ในอินเดียให้ถึง 5 ล้านคัน/ปี ภายในปี 2030 โดยวางแผนเสนอรถยนต์ทั้งหมด 30 รุ่น เพิ่มจากปัจจุบันเกือบ 2 เท่า

ภาพ เอเอฟพี